รัฐสภาสหภาพยุโรป (อียู) มีมติในวันพฤหัสบดี ตกลงรับรองข้อเสนอเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ใหม่ๆ ที่มีเป้าหมายในการควบคุมการดำเนินธุรกิจของบรรดาบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำต่างๆ ของสหรัฐฯ ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์
ข้อเสนอดังกล่าวซึ่งอยู่ในกฎหมายที่ชื่อ Digital Services Act (DSA) เป็นแนวคิดริเริ่มของ มาร์เกรเธ เวสเตเยอร์ หัวหน้าคณะกรรมาธิการต่อต้านการผูกขาดของอียู และจะมีผลบังคับให้บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ทั้งหลาย เช่น แอมะซอน (Amazon) แอปเปิล (Apple) อัลฟาเบท (Alphabet) ซึ่งเป็นเจ้าของกูเกิล (Google) และ เมตา (Meta) ซึ่งเป็นเจ้าของเฟสบุ๊ค (Facebook) ยกระดับการทำธุรกิจด้วยการเน้นดูแลเนื้อหาที่ผิดกฎหมายที่ปรากฏในแพลตฟอร์มของตน มิฉะนั้นอาจต้องโทษถูกปรับเป็นมูลค่าถึง 6% ของรายได้ทั่วโลกต่อปีเลยทีเดียว
ข้อเสนอของ เวสเตเยอร์ ในครั้งนี้ ยังต้องถูกนำไปถกกับรัฐบาลประเทศสมาชิกอียูทั้ง 27 ประเทศรวมทั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติของประเทศเหล่านั้นก่อนที่จะมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายเต็มรูปแบบได้ ซึ่งถ้าหากเกิดขึ้นจริง DSA จะเป็นกฎหมายฉบับแรกของโลกที่มีอำนาจจัดการกับธุรกิจเทคโนโลยีชั้นนำของโลกโดยตรง
คริสเตล สคาลเดโมส สมาชิกสภานิติบัญญัติเดนมาร์ก ซึ่งทำหน้าที่เป็นหัวหน้าทีมเจรจาของรัฐสภาอียู กล่าวว่า แพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ บทบาทสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ต่อชีวิตคนเรา และนำมาซึ่งทั้งโอกาสและความเสี่ยงใหม่ๆ มากมาย ดังนั้น รัฐสภาอียู จึงจำเป็นต้องทำทุกอย่างให้แน่ใจว่า เนื้อหาผิดกฎหมายที่ปรากฏอยู่นอกระบบอินเตอร์เน็ต จะเป็นสิ่งผิดกฎหมายในโลกออนไลน์ด้วยเช่นกัน
รายงานข่าวระบุว่า ฝรั่งเศส ซึ่งรับหน้าที่ประธานหมุนเวียนอียูในปี 2022 ตั้งเป้าที่จะผลักดันให้ทุกฝ่ายตกลงรับรองกฎหมายนี้ให้ได้ภายในกลางปีนี้
แหล่งที่มาของข่าว