คำชี้แจงของ “เจอโรม พาวเวลล์” ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต่อสภาคองเกรส เมื่อวันที่ 30 พ.ย. ที่ว่าการประชุมเฟดวันที่ 14-15 ธ.ค.นี้ จะมีการหารือเกี่ยวกับการเร่งความเร็วในการลดวงเงินซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) เป็นปัจจัยใหม่ที่เข้าไปสมทบนอกเหนือจากโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน จนทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐดิ่งอย่างหนัก ทำให้สถานการณ์พลิกจากสีเขียวในช่วงตลาดล่วงหน้า มาเป็นสีแดงเมื่อเปิดตลาดจริง โดยดาวโจนส์ปรับลงถึง 620 จุด
ประธานเฟดบอกกับคองเกรสว่า อาจจะพิจารณาเร่งลดการซื้อพันธบัตรเร็วกว่ากำหนดเดิม 2-3 เดือน พร้อมกันนี้ยังระบุว่าจะเลิกใช้คำว่า “ชั่วคราว” กับสภาวะเงินเฟ้อในปัจจุบันที่ถีบตัวสูงในรอบ 30 ปี สารที่ส่งออกมาจากประธานเฟดถูกตีความว่าจะมีการเริ่มใช้นโยบายการเงินตึงตัว ซึ่งหมายถึงอาจมีการขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้น
การเปลี่ยนแปลงท่าทีของเฟดจาก “พิราบ” หรือนโยบายการเงินผ่อนคลายไปเป็น “เหยี่ยว” หรือนโยบายการเงินที่ตึงขึ้น มีความหมายอย่างไรต่อตลาดเอเชีย เป็นสิ่งที่บรรดานักวิเคราะห์พากันเฝ้าจับตาและพยากรณ์ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง
ตามข้อมูลของบลูมเบิร์ก ที่รวบรวมความเห็นของนักวิเคราะห์เอาไว้ ระบุว่า การเร่งลดวงเงินคิวอีและการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ จะส่งผลเสียต่อตลาดหุ้นที่มีค่าเบต้าสูง อย่างเช่นตลาดเกิดใหม่ (EM)
แต่อย่างไรก็ตาม ในความเห็นของ “ซู ตรินห์” กรรมการผู้จัดการแมนูไลฟ์ อินเวสต์เมนต์ แมเนจเมนต์ บอกว่า ในมุมมองของบริษัทเห็นว่าตลาดเกิดใหม่ในเอเชียอยู่ในฐานะที่สามารถทนทานต่อความผันผวนของนโยบายการเงิน เพราะเงินเฟ้อเอเชียได้รับการควบคุมมากกว่า อีกทั้งพึ่งพาเงินลงทุนต่างชาติน้อยกว่าตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคอื่น แต่ข่าวร้ายก็คือเอเชียพึ่งพาการส่งออกมากเกินไป
อัลวิน ที. ตัน หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์อัตราแลกเปลี่ยนของอาร์บีซี แคปิตอล มาร์เก็ต ในฮ่องกง คาดว่าจะสร้างแรงกดดันต่อสินทรัพย์เสี่ยงโดยทั่วไป รวมทั้งตลาดหุ้นเอเชีย ส่วน เทอร์เรนซ์ อู นักกลยุทธ์อัตราแลกเปลี่ยนของโอเวอร์ซี ไชนีส แบงกิ้ง คอร์ป ในสิงคโปร์ ระบุว่าค่าเงินบาทไทยอาจตกอยู่ในความเสี่ยงมากที่สุด เพราะผลกระทบจากการกลับมาระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 อาจทำให้นักท่องเที่ยวไม่กลับมา
ที่สำคัญกว่านั้นเราจะเฝ้ามองพัฒนาการของค่าเงินหยวนอย่างใกล้ชิด โดยเงินหยวนแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วยปกป้องค่าเงินของเอเชีย แต่ถ้าหากเงินหยวนส่งสัญญาณอ่อนค่า ก็คาดว่าการไหลออกของเงินทุนในตลาดเกิดใหม่เอเชียจะสูงขึ้น
ไมเคิล เรเนอร์ พริส นักกลยุทธ์การลงทุนของโกลเด้น อีเควเตอร์ เวลท์ มองว่า หากการขึ้นดอกเบี้ยทำให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอย่างสุดโต่ง จะส่งผลลบต่อตลาดหุ้นเอเชียและ EM แต่ตลาดจีนและตลาดอาเซียนขนาดใหญ่ เช่นอินโดนีเซีย อาจมีผลงานโดดเด่นกว่าตลาดตะวันตกในปีหน้าตามกฎแห่งการเข้าสู่ค่าเฉลี่ย ส่วนตลาดจีนก็มีการปรับฐานครั้งใหญ่ จึงทำให้มูลค่าหุ้นจีนน่าสนใจกว่า
ทางด้าน “คูน โกะห์” หัวหน้าฝ่ายวิจัยเอเชียของออสเตรเลีย & นิวซีแลนด์ แบงกิ้ง กรุ๊ป ชี้ว่า แม้ถ้อยแถลงของเฟดจะบ่งบอกว่าอาจขึ้นดอกเบี้ยกลางปีหน้า แต่จะเห็นว่าเงินดอลลาร์ไม่ได้แข็งค่าขึ้น ซึ่งอาจเป็นเพราะคำแถลงของเฟดสอดคล้องกับความคาดหวังของตลาด
ดังนั้นผลกระทบที่มีต่อค่าเงินเอเชียน่าจะมีลักษณะคละเคล้า โดยค่าเงินของประเทศที่การส่งออกแข็งแกร่งและพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก เช่น วอนของเกาหลีใต้ หยวนของจีน และดอลลาร์สิงคโปร์ จะไปได้ดี
ขณะที่ค่าเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซียจะได้รับผลกระทบเล็กน้อยอันเนื่องมาจากเงินต่างชาติที่ไหลเข้าซื้อพันธบัตรจะลดลง ส่วนค่าเงินบาทจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับว่าโควิดสายพันธุ์โอไมครอนจะกระทบการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวแค่ไหน
“โทโมะ คิโนชิตะ” นักกลยุทธ์ตลาดโลกของอินเวสโก แอสเซต แมเนจเมนต์ ระบุว่า หลังถ้อยแถลงของเฟดจะเห็นว่าตลาดหุ้นและค่าเงินของเอเชียยังไต่ขึ้น เป็นเพราะสารของเฟดไม่ได้อยู่นอกเหนือความคาดหมาย และการที่ประธานเฟดยอมรับว่าโอไมครอนสร้างความไม่แน่นอนให้กับเศรษฐกิจได้ลดทอนน้ำเสียงแบบเหยี่ยวลง
แหล่งที่มาของข่าว