สรรพากรชี้ เทรดคริปโตมีกำไร เสียภาษีสินทรัพย์ดิจิทัล 15%
กรมสรรพากรเตือนนักลงทุน หากมีผลกำไรจากการเทรดคริปโต ถือเป็นรายได้ต้องเสียภาษี โดยกฎหมายระบุให้เสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% พร้อมนำรวมรายได้อื่น เพื่อคำนวณภาษีประจำปี
นางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ โฆษกกรมสรรพากรเปิดเผยว่า การซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (ซึ่งในที่นี้จะหมายถึงโทเคนดิจิทัลและคริปโตเคอเรนซี่ ) โดยปกติ หากมีการขายแล้วมีกำไร ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา40(4)(ฌ) ซึ่งผู้จ่ายเงินได้(ผู้ซื้อ) มีหน้าที่ต้องเสียภาษี หัก ณ ที่จ่าย หักภาษี ณ ที่จ่าย 15% (อัตราภาษีจะจัดอยู่ในหมวดของการลงทุนแบบเดียวกับ ดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยเงินกู้)
แต่จ่าย 15% แล้วยังไม่จบค่ะเพราะกฎหมายระบุว่ากำไรจากการเทรดเงินสกุลดิจิทัล จะต้องคำนวณรวมกับเงินได้อื่น ในการยื่นเสียภาษีประจำปี ตามปีที่ได้รับกำไรเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลังเนื่องจากไม่จ่ายภาษี เนื่องจากกฎหมายไม่ได้กำหนดให้เลือกว่า จะนำมาคำนวณรวม หรือไม่ต้องนำมาคำนวณรวม เช่นเดียวกับภาษีหัก ณ ที่จ่ายชนิดดอกเบี้ยหรือเงินปันผล ซึ่งถูกหัก ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% และ 10% ซึ่งจะได้สิทธิ์ให้เลือกว่าจะรวมหรือแยกกับเงินได้ ในตอนยื่นภาษีประจำปีได้ นั่นหมายความว่า ถ้าคิดเฉพาะในส่วนภาษีสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น บางคนอาจจะเสียเต็มเพดานสูงสุดถึง 35% เลยทีเดียวสำหรับคนที่มีรายได้เยอะๆ
กฎหมายเองก็มีข้อจำกัด แพลตฟอร์ม
แม้กฎหมายจะระบุชัดว่าต้องเสียภาษี แต่ความท้าทายนั้นอยู่ที่ เรื่องของการรับรู้รายได้ เพราะระบบเองก็จะต้องมีข้อมูลชัดเจนว่า เราซื้อมา เท่าไหร่ ขายไปเท่าไหร่ เพื่อเอาส่วนต่างไปคำนวณเสียภาษี ซึ่งแพลตฟอร์มต่างๆยังไม่มีระบบนี้มารองรับ
สองคือเรื่องของแพลตฟอร์มในกรณีที่เป็นการซื้อขายบนแพลตฟอร์มต่างชาติที่มีเซิร์ฟเวอร์ตั้งอยู่นอกประเทศไทย อันนี้น่าจะตรวจสอบยากมากว่าใครซื้อขายมีกำไรบ้าง ทางกรมสรรพากรก็ไม่มีอำนาจในการตรวจสอบ นอกจากนั้น รายได้ที่เกิดขึ้นอาจจะถือว่าเกิดขึ้นในต่างประเทศ หากไม่โอนกลับไทยก็ไม่ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว
แต่ถ้ามีการโอนเงินกลับไทยในปีภาษีนั้นก็ต้องเอารายได้มาคำนวณภาษี อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าจะเอารายได้ส่วนนี้มายื่นภาษีปลายปีหรือไม่ ส่วนทางภาครัฐเองก็อาจจะออกกฎหมายใหม่มาควบคุมมากขึ้น ล่าสุด ก.ล.ต. และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้หารือในการบรรจุเงินคริปโตให้อยู่ภายใต้การการดูแลของ DSI รวมถึงเพิ่มการทำความผิดว่าด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลด้วย
ฟากแพลตฟอร์มในประเทศที่ได้รับอนุญาตจากกลต.เอง เชื่อได้ว่าในอนาคต หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้นจะบังคับให้เพิ่มระบบหักภาษีอัตโนมัติ เพื่อส่งรายได้เข้ารัฐอย่างแน่นอน
แหล่งที่มา