ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางยุโรป (ECB) เดือน ธ.ค. 2018 มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและยุติมาตรการเข้าซื้อพันธบัตรตามมาตรการ Asset Purchase Programs (APP) ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 2018 แต่ยังคงการ reinvest พันธบัตรภายใต้มาตรการ APP ที่จะครบกำหนดอายุต่อไป: รายละเอียดสรุปได้ดังนี้
คณะกรรมการนโยบายการเงิน ECB มีมติให้
1. คงอัตราดอกเบี้ย 1) Main Refinancing Operations ที่ร้อยละ 0.00 2) อัตราดอกเบี้ย Marginal Lending Facility Rate ที่ร้อยละ 0.25 และ 3) Deposit Facility Rate ที่ติดลบร้อยละ -0.40 โดย คณะกรรมการฯ คาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะคงอยู่ ณ ระดับปัจจุบันต่อไปอย่างน้อยจนกว่าจะผ่านช่วงฤดูร้อนของปี 2019 หรืออาจยาวนานกว่านั้นหากมีความจำเป็น เพื่อให้มั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้อมีพัฒนาการสู่ระดับต่ำกว่าหรือใกล้เคียงระดับเป้าหมายที่ร้อยละ 2 ในระยะปานกลางอย่างยั่งยืน
2. ยุติการเข้าซื้อพันธบัตรตามมาตรการ Asset Purchase Programs (APP) ณ สิ้นเดือนธันวาคมปี 2018
3. คงการ reinvest พันธบัตรภายใต้มาตรการ APP ที่จะครบกำหนดอายุต่อไปแบบเต็มจำนวน โดย ECB ตั้งใจจะดำเนินการตามแผนดังกล่าวต่อไปจนกว่าจะผ่านพ้นช่วงเวลาที่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือตราบเท่าที่จำเป็นเพื่อรักษาสภาพคล่องในระบบและทำให้นโยบายการเงินมีความผ่อนคลายอย่างเหมาะสมเพียงพอ
นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ มีความเห็นต่อพัฒนาการทางเศรษฐกิจของยูโรโซนดังนี้
ด้านเศรษฐกิจ
– ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริง (Real GDP) ของยูโรโซนขยายตัวร้อยละ 0.2 (QoQ) ในไตรมาสที่ 3 ปี 2018 ชะลอลงจากไตรมาสที่ 2 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.4 โดยตัวเลขเศรษฐกิจและผลสำรวจต่างๆ ประกาศออกมาแย่กว่าที่คาด สะท้อน diminishing contribution จากอุปสงค์ภายนอกประเทศ รวมถึงปัจจัยลบเฉพาะในบางประเทศและในบางภาคอุตสาหกรรม ซึ่งแม้ว่าปัจจัยลบหลายๆ ปัจจัยจะเริ่มคลายตัวแต่ยังคงส่งกระทบผลต่อ momentum ของการเติบโตให้เป็นไปในทิศทางที่ช้าลง อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ภายในประเทศซึ่งได้รับการสนับสนุนจากนโยบายการเงินยังเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจและตลาดแรงงานให้ยังคงแข็งแกร่งดังสะท้อนจากการจ้างงานและค่าจ้างแรงงานที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลดีต่อการบริโภคภาคเอกชน ด้านการลงทุนของภาคธุรกิจยังคงได้รับประโยชน์จากอุปสงค์ภายในประเทศ สภาพตลาดเงินที่เอื้ออำนวย และงบดุลของบริษัทที่ปรับดีขึ้น ขณะที่การลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงแข็งแกร่ง ทั้งนี้ การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกแม้คาดว่ามีแนวโน้มจะชะลอตัวลง แต่สถานการณ์โดยรวมจะยังคงส่งผลดีต่อการส่งออกของยุโรป
– ผลการประเมินการขยายตัวทางเศรษฐกิจของยูโรโซนสอดคล้องกับ Macroeconomic projections ของ Eurosystem staff ซึ่งประมาณการว่า GDP ของยูโซนจะขยายตัวที่ร้อยละ 1.9, 1.7, 1.7 และ 1.5 ในปี 2018 – 2021 ตามลำดับ โดยมีการปรับตัวเลขประมาณการของปี 2018 และ 2019 ลงเล็กน้อยหากเทียบกับตัวเลขประมาณการรอบเดือน ก.ย. 2018
ด้านความเสี่ยง
– ความเสี่ยงต่อมุมมองการขยายตัวทางเศรษฐกิจของยูโซนโดยรวมยังเป็นแบบสมดุล แต่เริ่มโน้มเอียงไปในทิศทางที่แย่ลง จากความไม่แน่นอนในประเด็นด้าน Geopolitics, มาตรการกีดกันทางการค้า, ความเปราะบางของตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Market) และความผันผวนในตลาดเงิน
ด้านอัตราเงินเฟ้อ
– อัตราเงินเฟ้อปรับตัวลดลงจากร้อยละ 2.2 ในเดือน ต.ค.2018 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.0 ในเดือน พ.ย. โดยเป็นการปรับลดลงตามราคาพลังงานเป็นหลัก ซึ่งหากพิจารณาราคา futures ตลาดน้ำมัน ณ ปัจจุบัน ECB คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปแบบรายปีในระยะต่อไปจะยังคงปรับลดลงจากระดับปัจจุบัน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ
– แรงกดดันจากต้นทุนภายในประเทศยังคงแข็งแกร่งและกระจายตัวมากขึ้น โดยการใช้กำลังการผลิตที่อยู่ในระดับสูงและตลาดแรงงานที่ตึงตัวผลักดันให้ค่าจ้างแรงงานเริ่มปรับสูงขึ้น ซึ่ง ECB คาดว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะปรับสูงขึ้นในระยะปานกลางผ่านการสนับสนุนของ นโยบายการเงิน การขยายตัวทางเศรษฐกิจ และค่าจ้างแรงงานที่ปรับสูงขึ้นดังกล่าว
– ผลการประเมินแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนสอดคล้องกับ Macroeconomic projections ของ Eurosystem staff ที่ประมาณการว่า HICP inflation รายปีของยูโรโซนจะขยายตัวที่ร้อยละ 1.8, 1.6, 1.7 และ 1.8 ในปี 2018 – 2021 ตามลำดับ ทั้งนี้ หากเทียบกับประมาณการเมื่อรอบเดือน ก.ย. 2018 มีการปรับตัวเลขประมาณการเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในปี 2018 และปรับลดลงเล็กน้อยในปี 2019
สำหรับพัฒนาการในระยะต่อไปมองว่า
– ผลการวิเคราะห์เชิงเศรษฐกิจและการเงิน ช่วยยืนยันว่าการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในระดับสูงยังเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดูแลให้อัตราเงินเฟ้อปรับเข้าสู่ระดับต่ำกว่าหรือเข้าใกล้ระดับเป้าหมายที่ร้อยละ 2 อย่างยั่งยืนในระยะปานกลาง
– เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากนโยบายการเงินอย่างเต็มที่ นโยบายด้านอื่นๆ จำเป็นต้องมีส่วนร่วมต่อการพัฒนาศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวและปรับลดความเปราะทางเศรษฐกิจลง ซึ่งรวมถึงการปฏิรูปเชิงโครงสร้างในกลุ่มประเทศยุโรปที่จำเป็นต้อง เพิ่มความยืดหยุ่น ลดระดับการว่างงานเชิงโครงสร้าง และเร่งความสามารถในการผลิตให้สูงขึ้น
– ด้านนโยบายการคลัง ECB เห็นว่าควรมีการ rebuild fiscal buffers โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่มีหนี้ในระดับสูง ซึ่ง Stability and Growth Pact นั้นมีความสำคัญต่อการรักษาฐานะทางการคลังให้เข้มแข็ง อีกทั้ง การใช้กรอบการกำกับดูแลด้านการคลังที่มีความโปร่งใสและเสมอภาคกับทุกประเทศของสหภาพยุโรปยังคงเป็นสิ่งจำเป็นที่ช่วยก่อให้เกิดความยืดหยุ่นของเศรษฐกิจยูโรโซน โดย ECB ระบุว่าควรมีการปรับปรุงบทบาทของ Economic and Monetary Union และเรียกร้องให้เร่งดำเนินการจัดตั้ง banking union และ capital markets union ให้สำเร็จโดยเร็ว
ขณะที่นาย Mario Draghi ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) กล่าวในช่วง press conference ว่าอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนจะยังคงมีทิศทางปรับเข้าสู่ระดับที่ต่ำกว่าหรือใกล้เคียงระดับเป้าหมายที่ร้อยละ 2 ต่อไป แม้ว่าการเข้าซื้อพันธบัตรตามมาตรการ APP จะสิ้นสุดลง การที่นักลงทุนส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกของ ECB อาจเกิดขึ้นอย่างเร็วที่สุดในช่วงต้นปี 2020 เป็นเพราะนักลงทุนให้ความสำคัญกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของยูโรโซนในปัจจุบันที่ชะลอตัวลงและคาดว่าเศรษฐกิจยูโรโซนจะยังคงชะลอตัวในระดับนี้ต่อไปในอนาคต ซึ่งเสมือนเป็นการตีความว่าสภาพตลาดเงินโดยรวมจะยังคงผ่อนคลายต่อไป โดยสถานการณ์ในลักษณะดังกล่าวจะเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจยูโรโซนมีพัฒนาการที่ดีขึ้นและไม่แย่อย่างที่หลายฝ่ายประเมิน หรือสามารถอธิบายได้ว่า สภาพตลาดเงินที่ผ่อนคลาย (ซึ่งเป็นผลจากตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอลง) อาจจะช่วยให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่แย่มากอย่างที่นักลงทุนคาดการณ์ไว้
ส่วนQuantitative Easing (QE) จะยังคงเป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการเงินที่ ECB สามารถนำกลับมาใช้ได้ในอนาคต หากพิจารณาแล้วว่าเป็นเครื่องมือที่เหมาะสมในสถานการณ์นั้นๆ
นอกจากนี้ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีการเปิดเผยถึงรายละเอียดเกี่ยวกับการ reinvest พันธบัตรภายใต้มาตรการ Asset Purchase Programs (APP) ที่จะครบกำหนดอายุดังนี้
– คณะกรรมการนโยบายการเงิน ECB ต้องการจะคงขนาด cumulative net purchases ของพันธบัตรภายใต้มาตรการ APP ในแต่ละโปรแกรม ซึ่งประกอบด้วย 1) Public Sector Purchase Programme (PSPP) 2) Asset-Backed Securities Purchase Programme (ABSPP) 3) Third Covered Bond Purchase Programme (CBPP3) และ 4) Corporate Sector Purchase Programme (CSPP) ให้อยู่ในปริมาณคงเดิมเท่ากับ ณ วันที่สิ้นสุดการเข้าซื้อพันธบัตรในเดือน ธ.ค. 2018 อย่างไรก็ตาม ขนาดโดยรวมและสัดส่วนของแต่ละโปรแกรมอาจเบี่ยงเบนไปบ้างเล็กน้อยระหว่างการ reinvest
– สำหรับ Public Sector Purchase Programme (PSPP) ECB จะทำการ reinvest โดยยึดตามหลัก Capital key อีกทั้ง ECB สามารถลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีอัตราผลตอบแทนต่ำกว่า Deposit facility rate ได้ภายใต้ขอบเขตที่จำเป็น
– ด้าน Private Sector Programme (Non-PSPP) ECB จะ reinvest โดยยึดตาม Market Capitalisation และสามารถเข้าซื้อในตลาดแรก (Primary market) ได้เท่าที่จำเป็น
– ECB จะยึดหลัก Market Neutrality ในการ reinvest โดยจะคำนึงถึงการดำเนินงานที่ราบรื่นและยืดหยุ่น ทั้งนี้ ECB จะกระจายการ reinvest เงินต้นที่ครบกำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี เพื่อให้เกิดความสม่ำเสมอและไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดเงิน
Source: BOTSS