ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงทุกชนิด โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 2.87 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 77.39 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 2.73 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 67.51 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 2.64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 76.28 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 4.30 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 82.42 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซล ลดลง 1.19 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 95.41 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
– รัฐมนตรีพลังงานซาอุดิอาระเบีย นาย Khalid Al-Falih ให้คำมั่นว่าซาอุฯ กำลังเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบสู่ระดับ 11 ล้านบาร์เรลต่อวัน จาก 10.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ต.ค.61 และมีขีดความสามารถในการเพิ่มปริมาณการผลิตสู่ระดับ 12 ล้านบาร์เรลต่อวัน
– กลุ่ม OPEC รายงานอัตราความร่วมมือในการควบคุมการผลิตในเดือน ก.ย. 61 ลดลงมาอยู่ที่ 111% เทียบกับเดือน ส.ค. 61 ที่ 129% (เทียบกับปริมาณการผลิตเมื่อ ต.ค. 2559 ก่อนที่ OPEC จะเริ่มมาตรการตั้งแต่เดือน ม.ค. 60 เป็นต้นมา)
– Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 19 ต.ค. 61 เพิ่มขึ้น จากสัปดาห์ก่อน 6.3 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 422.8 ล้านบาร์เรล โดยที่คลัง Cushing รัฐ Oklahoma ซึ่งเป็นจุดส่งมอบน้ำมันดิบ WTI ปริมาณสำรองเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.4 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 30.0 ล้านบาร์เรล
– Bloomberg รายงานบริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบีย (NOC) ประกาศปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบีย เดือน ต.ค. 61 อยู่ที่ 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน (สูงกว่าค่าเฉลี่ย 12 เดือน ซึ่งอยู่ที่ระดับ 950,000 บาร์เรลต่อวัน)
– Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ (Oil Rig) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 26 ต.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 2 แท่น มาอยู่ที่ 875 แท่น เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 3
– Intercontinental Exchange (ICE) รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ Brent ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุด 23ต.ค. 61 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับ Net Long Positon ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 48,333 สัญญา อยู่ที่ 360,785 สัญญา ระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
– รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ นาย Steven Mnuchin แถลงว่าแม้ในเดือน พ.ย. 61 นี้ อิหร่านจะยังส่งออกน้ำมันดิบได้อยู่บ้าง แต่สุดท้ายแล้วอิหร่านจะไม่สามารถส่งออกน้ำมันดิบได้เลย
– Norwegian Petroleum Directorate (NPD) ของนอร์เวย์รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในเดือน ก.ย. 61 อยู่ที่1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน (ลดลงจากเดือนก่อน 13% และลดลงจากปีก่อน 9.6% ) เนื่องจากแหล่งน้ำมันมีอายุมาก ทั้งนี้นอร์เวย์มีแนวโน้มผลิตน้ำมันลดลงต่อเนื่อง ก่อนที่แหล่งผลิตขนาดใหญ่ Johan Sverdrup จะเริ่มดำเนินการในช่วงปลายปี พ.ศ. 2562
– กระทรวงพลังงานอินโดนีเซียรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบระหว่างเดือน ม.ค.– ก.ย. 61 อยู่ที่ 775,000 บาร์เรลต่อวัน ต่ำกว่าเป้าหมายที่800,000 บาร์เรลต่อวัน
แนวโน้มราคาน้ำมัน
ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยสัปดาห์ที่ผ่านมาลดลง จากนักลงทุนเทขายสินทรัพย์เสี่ยงเพราะคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ โดยดัชนี Dow Jones ลดลงถึง 608 จุด ในวันที่ 25 ต.ค. 61 อย่างไรก็ดีราคาน้ำมันดิบปิดตลาดวันศุกร์ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ตามตลาดทุนทั่วโลกที่เริ่มทรงตัว หลังเผชิญสภาวะตกต่ำตลอดเดือน ต.ค. 61 นักลงทุนยังคงระมัดระวังและจับตามองผลกระทบ ล่าสุดค่าขนส่งทางเรือ (Freight) ปรับตัวลดลงรุนแรง โดย Harpex Container Index (ดัชนีเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์) ปรับตัวลดลงกว่า 24% จากระดับสูงสุดในรอบ 7 ปีในเดือน มิ.ย. 61 มาอยู่ที่ 516 จุด เตือนว่าการค้าทั่วโลกชะลอตัว อย่างไรก็ตามตลาดน้ำมันยังมีแรงสนับสนุนจากด้านปัจจัยพื้นฐาน อาทิสัปดาห์ล่าสุดจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น แต่นักวิเคราะห์มองว่าเป็นผลจากประสิทธิภาพที่ลดลง บังคับให้ผู้ผลิตต้องขุดเจาะเพิ่มขึ้นเพื่อรักษาระดับปริมาณการผลิต อีกทั้งในแหล่ง Permian Basin จำนวนหลุมที่ถูกขุดแต่ยังไม่ทำการผลิต (Drilled but Uncompleted : DUC) เพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ บ่งชี้ว่าปัญหาคอขวด (Bottleneck) ของระบบท่อขนส่งน้ำมันดิบยังคงไม่คลี่คลาย ขณะที่มาตรการคว่ำบาตรอิหร่านกำลังจะถึงเส้นตายที่จะมีผลในวันอาทิตย์ที่ 4 พ.ย. นี้ ล่าสุดอิหร่านเริ่มขายน้ำมันดิบในรูปแบบหุ้นให้บริษัทเอกชนเพื่อทำการส่งออกแทนบริษัทน้ำมันแห่งชาติ ก่อนหน้านี้บริษัทเอกชนมีสิทธิ์ที่จะซื้อน้ำมันดิบจากบริษัทน้ำมันแห่งชาติอิหร่านเพื่อเข้ากลั่นเท่านั้น โดยตั้งแต่เดือน ก.ค. 61 มีผู้ซื้อคิดเป็นปริมาณ 280,000 บาร์เรล จากที่ขายอยู่ในตลาดหุ้นปริมาณ 1.0 ล้านบาร์เรล ซึ่งอิหร่านกล่าวว่าจะเป็นมาตรการตอบโต้การคว่ำบาตรของสหรัฐฯ แต่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังคงมองว่าปริมาณส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญในเดือน พ.ย. 61 ทางด้านเทคนิคสัปดาห์นี้คาดว่า ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 76.0 –81.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 66.0 – 71.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 74.0-79.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงโดย Platts รายงานตลาดน้ำมันเบนซินในเอเชียถูกกดดันจากสภาวะอุปทานล้นตลาด ขณะที่ความต้องการทรงตัว (ล่าสุดบริษัทน้ำมันแห่งชาติของอินโดนีเซีย Pertamina ออกประมูลซื้อ น้ำมันเบนซินปริมาณ 10-11 ล้านบาร์เรล ในเดือน พ.ย. 61 ใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้าที่ 11 ล้านบาร์เรล) ซึ่งตลาดคาดว่ายังไม่เพียงพอที่จะดูดซับอุปทานส่วนเกิน ประกอบกับโรงกลั่น Persian Gulf Star ระยะที่ 3 ของอิหร่าน (กำลังการกลั่น 120,000 บาร์เรลต่อวัน) เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 22 ต.ค. 61 โดยเบื้องต้นมีแผนเร่งปริมาณการผลิตน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 12 ล้านลิตรต่อวัน (ประมาณ 75,000 บาร์เรลต่อวัน)และโรงกลั่น Yanbu ในซาอุฯ (กำลังการกลั่น 400,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท Yanbu Aramco Sinopec Refining Co. กลับมาเดินเครื่องหน่วย Continuous Catalytic Reformer (CCR: กำลังการผลิต 85,000 บาร์เรลต่อวัน) หลังหยุดดำเนินการเพราะเหตุขัดข้องทางเทคนิค ตั้งแต่เดือน ส.ค. 61 ด้านปริมาณสำรองน้ำมัน International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 24 ต.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 980,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 12.1 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบกว่า 1 เดือน อย่างไรก็ตามหน่วยงานศุลกากรของจีน (General Administration of Customs: GAC) รายงานปริมาณส่งออกน้ำมันเบนซินเดือน ก.ย. 61 อยู่ที่ระดับ 206,000 บาร์เรลต่อวัน ลดลงต่ำสุดตั้งแต่เดือน ก.ย. 60 ขณะที่ EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 19 ต.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 4.9 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 229.3 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบกว่า 10 เดือน ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 79.0-84.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลง เนื่องจาก บริษัท Nayara Energy ของอินเดียออกประมูลขายน้ำมันดีเซล (กำมะถัน 0.05%) ปริมาณรวม 500,000 บาร์เรล ส่งมอบวันที่ 10-14 พ.ย และ 14-18 พ.ย. 61 และ บริษัท CPC ของไต้หวันออกประมูลขายดีเซล (กำมะถัน 0.001%) ปริมาณ 300,000 บาร์เรล ส่งมอบวันที่ 6-24 พ.ย. 61 ประกอบกับ Platts รายงานเกาหลีใต้ส่งออกน้ำมันดีเซลเดือน ก.ย. 61 อยู่ที่ระดับ 564,000 บาร์เรลต่อวัน (เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 17.3 % ) อย่างไรก็ตามหน่วยงานศุลกากรจีนรายงานปริมาณส่งออกน้ำมันดีเซล เดือน ก.ย. 61 อยู่ที่ 257,000 บาร์เรลต่อวัน (ลดลงจากเดือนก่อน 13 %) ต่ำสุดในรอบ 21 เดือน ด้านปริมาณสำรองEIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 19 ต.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 2.2 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 130.4 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 2 เดือน และ IES รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 24 ต.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 530,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 8.66 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 5 เดือน ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 92.0-97.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ซึ่งแน่นอนว่าในส่วนของราคาน้ำมันมักจะสร้างความผันผวนให้กับสกุลเงินแคนาดาอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตามในส่วนของราคาน้ำมันในการคาดการณ์ของข่าวเศรษฐกิจจาก ThaiPR.net ซึ่งได้มีการคาดการณ์ดังกล่าวต้องรอติดตามปัจจัยกระทบในราคาน้ำมันดิบอย่างใกล้ชิดในช่วงอาทิตย์นี้