ไทยตั้งการ์ดรับมือ เศรษฐกิจสหรัฐป่วนหลังเลือกตั้ง : จากการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐ ผลปรากฏว่าพรรครีพับลิกันสูญเสียคะแนนเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรให้กับพรรคเดโมแครต ในขณะที่ยังสามารถรักษาคะแนนเสียงข้างมากในวุฒิสภาไว้ได้ ซึ่งมีนัยต่อนโยบายทางเศรษฐกิจของสหรัฐ ในระยะถัดไป โดยเฉพาะการผ่านร่างกฎหมายที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาคองเกรสจะทำได้ยากขึ้น
ในขณะที่คาดการณ์ว่านโยบายการค้ากับจีนคงยังดำเนินต่อไปได้ภายใต้อำนาจ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดี สหรัฐยังคงใช้นโยบายด้านต่างประเทศแบบแข็งกร้าวและเดินบนเส้นทางโดดเดี่ยวยิ่งขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อการค้าโลกให้ต้องเผชิญกับความยากลำบากในปี 2562
นอกจากนี้ ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ จะมีนัยต่อการผลักดันกฎหมายที่สำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณที่จะต้องเผชิญกับการต่อรองมากขึ้นจากพรรค เดโมแครต รวมถึงความเสี่ยงในเรื่องเพดานหนี้สาธารณะที่จะครบกำหนดในวันที่ 1 มี.ค. 2562 นี้
ทั้งนี้ ปัจจัยดังกล่าวจะมีผลต่อความผันผวนค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ตลอดจนทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐ ที่อาจจะชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญจนมีผลต่อจังหวะการปรับขึ้นดอกเบี้ย
นโยบาย รวมถึงท่าทีของสหรัฐ ในการเดินหน้านโยบายกีดกันทางการค้ากับจีน ซึ่งทั้งหมดกระทบกับเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ผลการเลือกตั้งค่อนข้างเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ (วันที่ 8 พ.ย.) ทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ S&P 500 ปรับสูงขึ้น 2.12% และตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกในภาพรวมตอบสนองในเชิงบวกจากการที่นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับผลการเลือกตั้ง ขณะที่ดัชนีค่าเงินดอลลาร์ ปิดตลาดอ่อนค่าเล็กน้อย 0.12% สำหรับเงินบาทต่อดอลลาร์ยังคงเคลื่อนไหวแข็งค่าเล็กน้อยมาอยู่ที่ราว 32.88 บาท/ดอลลาร์
พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงาน Global Business Development and Strategy ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ผลการเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐเป็นไปตามตลาดคาดโดยพรรครีพับลิกันได้เสียงข้างมากในวุฒิสภา ส่วนพรรคเดโมแครตได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรนั้น น่าจะส่งผลบวกต่อตลาดเงินและตลาดทุนในช่วงสั้น เพราะเดิมตลาดกังวลว่าพรรค รีพับลิกันจะครองเสียงข้างมากทั้งสองสภาทำให้ประธานาธิบดีทรัมป์มีอำนาจมากขึ้นและออกมาตรการไปกดดันประเทศอื่นเพิ่ม จากที่ดำเนินการขึ้นภาษีนำเข้ากับจีนแล้ว 2 แสนล้านดอลลาร์ ดังนั้น เมื่อพรรครีพับลิกันไม่ชนะในสภาล่างการที่ทรัมป์จะเพิ่มมาตรการด้านภาษีก็จะยากขึ้น แต่ที่ทำไปแล้วยังดำเนินต่อ
“ผลการเลือกตั้งครั้งนี้น่าจะทำให้กระแสเงินทุนต่างประเทศ (Fund Flow) ที่เคยลดการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ (อิมเมอร์จิ้น มาร์เก็ต) ออกไปก่อนหน้านี้ เพราะมองว่าพรรครีพับลิกันจะได้เสียงข้างมากจากทั้งสองสภาอาจกลับเข้ามาถือลงทุนหุ้นตามน้ำหนักเดิมที่เคยขายออกไป แต่ In Flow ส่วนนี้คงไม่มากนัก เป็นการตอบรับเชิงบวกในช่วงสั้นของตลาด ซึ่งหากมี Flow เข้ามาในอิมเมอร์จิ้นมาร์เก็ต ไทยก็น่าจะดีไปด้วย”
อย่างไรก็ดี ในระยะ 2-3 เดือนข้างหน้าจากนี้ ภาพพื้นฐานเศรษฐกิจไทยไม่ได้เปลี่ยน มองว่าการดำเนินนโยบายการกีดกันทางการค้าของสหรัฐยังน่าจะดำเนินต่อไป เฟดยังเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือน ธ.ค.ปีนี้ต่อ เพราะเศรษฐกิจสหรัฐยังดี เงินเฟ้อก็เป็นไปตามเป้าหมาย สะท้อนจากผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปี ก็ยังอยู่ในระดับสูงประมาณ 3.2% สะท้อนว่าภาพเศรษฐกิจที่ยังดี
เพียงแต่เงินดอลลาร์อาจชะลอการแข็งค่าลงมาบ้าง เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในของสหรัฐ อาทิ การลดภาษีนิติบุคคล การใช้งบประมาณขาดดุล อาจไม่ได้เป็นไปตามที่ทรัมป์เคยประกาศไว้ ทำให้เงินบาทในระยะสั้นน่าจะกลับมาแข็งค่าขึ้น แต่เป็นภาวะชั่วคราว อย่างไรก็ดีภายในสิ้นปีนี้เรายังมองว่าเงินบาทจะอยู่ที่ระดับ 33 บาท/ดอลลาร์ จากปัจจุบันอยู่ที่ 32.80-32.90 บาท/ดอลลาร์
ส่วนการประชุมเฟดในรอบนี้ วันที่ 7-8 พ.ย. คาดว่าจะยังไม่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ย น่าจะปรับขึ้นอีกครั้งในปลายปีนี้ ตามทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐที่ยังฟื้นตัวดี
ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าผลการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐครั้งนี้ ยังคงทำให้สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐเดินหน้าต่อไป โดยจะมีผลต่อความผันผวนค่าเงินดอลลาร์ ตลอดจนทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐที่อาจจะชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญจนมีผลต่อจังหวะการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย รวมถึงท่าทีของสหรัฐในการเดินหน้านโยบายกีดกันทางการค้ากับจีน ซึ่งทั้งหมดกระทบกับเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในปี 2562 นับว่าเป็นปีแห่งความยากลำบากที่นานาชาติรวมทั้งไทยต้อง
เผชิญผลกระทบ 2 ฝั่ง ประกอบด้วย
1) ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่ส่งผ่านมายังห่วงโซ่การผลิตของไทย และ
2) ผลกระทบจากการอ่อนแรงของเศรษฐกิจและกำลังซื้อของตลาดทั่วโลก โดยรวม แล้วทำให้การส่งออกไทยในปี 2562 สูญเสียประโยชน์สุทธิ 3,100-4,500 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นสัดส่วน 0.6-0.9% ของจีดีพี
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่านโยบายเศรษฐกิจภายใต้การนำของทรัมป์ ในช่วง 2 ปีหลังจากนี้จะยังเดินตามแนวทางต่างตอบแทนและได้ประโยชน์ร่วมกันบนจุดยืนเดิมที่แข็งกร้าว และจะไม่มีนโยบายกดดันการค้ารูปแบบอื่นเพิ่มเติมออกมา โดยในที่สุดปี 2563 น่าจะเป็นปีที่สงครามการค้าเริ่มคลี่คลาย ตลอดจนการค้าระหว่างประเทศของไทยกับต่างประเทศมีทิศทางดีขึ้นเป็นลำดับศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (อีไอซี) ระบุว่า ผลการเลือกตั้งกลางเทอมไม่ได้ส่งผลต่อนโยบายการค้าของสหรัฐโดยตรง เนื่องจากนโยบายการค้าเป็นอำนาจพิเศษของประธานาธิบดี ดังนั้นมองว่าสหรัฐยังคงนโยบายกีดกันการค้า โดยเฉพาะการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจีนยังคงมีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่านการส่งออกต่อเนื่องในปี 2562
ทั้งนี้ เนื่องจากไทยมีห่วงโซ่อุปทานการผลิตสินค้ากับจีนโดยเฉพาะในหลายหมวดสินค้า เช่น พลาสติก ยางพารา แผงวงจรไฟฟ้า คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ฯลฯ และหากเศรษฐกิจจีนเริ่มมีการชะลอตัวจะทำให้การส่งออกไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลงตามการชะลอของเศรษฐกิจจีน ซึ่งได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า หากการเจรจาระหว่างสหรัฐและจีนไร้ข้อสรุป มีความเป็นไปได้ที่สหรัฐจะดำเนินการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มเติมและการตอบโต้จากจีนจะยังคงมีอยู่
ธุรกิจไทยที่พึ่งพาการส่งออกไปยังสหรัฐและจีนจำเป็นต้องติดตามทิศทางนโยบายการค้าของสหรัฐ ในระยะข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอาจมีการประชุม จี20 นอกรอบระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์และประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ที่อาร์เจนตินา ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 30 พ.ย. โดยกำหนดการเจรจาเพื่อแก้ไขความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน
อมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย มีมุมมองว่าสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนยังยังเดินหน้าต่อได้ แต่คงไม่น่าขยายวงกว้าง และน่าจะหาทางตกลงกับจีนได้ แต่นโยบายลดภาษีคงเกิดได้ยาก ไม่น่าผ่านสภาล่าง ซึ่งพรรคเดโมแครตคงอยากเห็นการลดงบขาดดุล หนี้ไม่โตเร็ว
ในอีก 2 ปีข้างหน้าก่อนเลือกตั้งใหม่ ทรัมป์คงทำอะไรไม่ได้มากเท่าช่วงก่อนหน้า แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะย่ำแย่ เพราะมีสภาสูงคอยสนับสนุน แต่การผ่านกฎหมายงบประมาณให้กระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่านี้คงยาก แต่ยังอาจกดดันด้านต่างประเทศผ่านการขึ้นภาษีนำเข้า และต้องระวังความเสี่ยงด้านปิดหน่วยงานราชการชั่วคราว Government Shutdown หรือ Debt Ceiling
อมรเทพ มองว่า ด้านเศรษฐกิจ เมื่อนโยบายในอนาคตไม่น่าแรง เงินเฟ้อไม่น่าจะสูง ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) น่าจะส่งสัญญาณชะลอการขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้า หรืออย่างน้อยก็ยืนการขึ้นอีก 3 ครั้งปีหน้า ตลาดสหรัฐอาจไม่น่าสนใจ นักลงทุนอาจหันมามองตลาดเกิดใหม่ที่มีพื้นฐานดี ที่เกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงอย่างไทย และเป็นไปได้ที่ค่าเงินบาทอาจพลิกกลับมาแข็งได้เล็กน้อย
ในขณะเดียวกัน ไทยต้องรับมือกับความผันผวนของค่าเงิน กระแสเงินทุนที่เคลื่อนย้ายอย่างรวดเร็ว และไม่ว่าจะเกิดอะไรไทยต้องแกร่งที่จะรับมือความผันผวนของเศรษฐกิจ เมื่อยักษ์ใหญ่สหรัฐกับจีนขยับ ไทยก็ต้องการตั้งการ์ดสูงไว้เพื่อรับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
โดย ชีวรัตน์ กิจนภาธนพงศ์
ที่มา Source: Posttoday