มะกันเข้มคว่ำบาตรอิหร่าน ฝ่าฝืนเจอโทษปรับหนัก: สหรัฐฯเตรียมใช้บทลงโทษ “ขั้นรุนแรง” กับบริษัทนานาชาติที่ฝ่าฝืนมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่สหรัฐฯนำมาใช้กับอิหร่านโดยมีผลตั้งแต่วันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา แต่ขณะเดียวกันก็อนุโลมให้ 8 ประเทศ นำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านได้เป็นการชั่วคราว
นายไมเคิล ปอมปีโอ รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อเมื่อต้นสัปดาห์นี้ย้ำว่าสหรัฐฯเอาจริงกับการคว่ำบาตรอิหร่านซึ่งหากบริษัทใดก็ตามยังคงติดต่อทำธุรกิจกับอิหร่านโดยฝ่าฝืนมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ เขาบอกได้เลยว่า นั่นคือการตัดสินใจทางธุรกิจที่จะนำมาซึ่งความเจ็บปวดเสียยิ่งกว่าการถอนธุรกิจทั้งยวงออกจากอิหร่านเสียอีก การแถลงข่าวของ นายปอมปีโอที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. มีขึ้นหลังจากที่รัฐบาล สหรัฐฯได้ประกาศคว่ำบาตร 700 บุคคลและนิติบุคคล ซึ่งครอบคลุมหลากอุตสาหกรรมตั้งแต่ธนาคารพาณิชย์ ไปจนถึงบริษัทเดินเรือและอากาศยาน ที่เข้าไปติดต่อทำธุรกิจกับบริษัทหรือรัฐบาลอิหร่าน
สหรัฐฯคาดหมายว่า ความพยายามกดดันเพื่อให้อิหร่านยุติการพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์และการให้ความสนับสนุนกลุ่มหัวรุนแรงในต่างประเทศ ทำให้อิหร่านสูญเสียรายได้จากการขายน้ำมันดิบไปแล้ว 2,500 ล้านดอลลาร์นับจากเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาหลังจากที่สหรัฐฯถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2015 ที่อิหร่านลงนามไว้กับประเทศมหาอำนาจในโลกตะวันตก ซึ่งนับตั้งแต่ช่วงเวลานั้นสหรัฐฯได้ให้เวลา 180 วันแก่รัฐบาลและเอกชนของนานาประเทศทั่วโลกในการยุติการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่าน ไม่เช่นนั้นก็จะต้องพบกับบทลงโทษจากสหรัฐฯ
การกดดันอิหร่านในครั้งนี้จะมีผลกระทบอย่างมากในเชิงเศรษฐกิจเพราะการส่งออกน้ำมันดิบเป็นช่องทางสร้างรายได้เข้าประเทศอิหร่านถึง 80% ค่าเงินของอิหร่านลดวูบลงแล้ว 70% แต่คาดว่าทางออกของอิหร่านคือการอาศัยช่องโหว่ของการตรวจสอบ เรือบรรทุกน้ำมันหลายลำของอิหร่านปิดระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในการติดตามเส้นทางเดินเรือแล้ว และประเทศในยุโรปก็หันมาใช้ระบบการค้าแบบต่างตอบแทนเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้เงินสกุลดอลลาร์ในการค้าขายกับอิหร่าน ส่วน 8 ประเทศที่ได้รับ การยกเว้นให้สามารถนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านเป็นการชั่ว คราวนั้นได้แก่ จีน อินเดีย อิตาลี กรีซ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และตุรกี ซึ่งต่างมีเงื่อนไขว่าจะลดและเลิกการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านในที่สุด
ที่ผ่านมา สหรัฐฯเคยตั้งโทษปรับหนักบริษัทที่ฝ่าฝืนคำสั่งคว่ำบาตรของสหรัฐฯ เช่นในปี 2014 ธนาคารบีเอ็นพี พาริบาส์ของฝรั่งเศสต้องทำข้อตกลงยอมจ่ายค่าปรับถึง 8,900 ล้านดอลลาร์เนื่องจากฝ่าฝืนมติคว่ำบาตรที่สหรัฐฯมีต่อซูดาน คิวบา และอิหร่าน เช่นเดียวกับธนาคารคอมเมิร์ซ แบงก์ เอจี ของเยอรมนีที่ต้องยอมจ่าย 1,450 ล้านดอลลาร์ให้กับการฝ่าฝืนโอนเงินผ่านระบบธนาคารให้กับซูดานและอิหร่าน
ซึ่งในส่วนของการคว่ำบาตรประเทศอิหร่าน ส่วนใหญ่แล้วมักจะสร้างความผันผวนให้กับราคาน้ำมันเนื่องจากว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์มักจะโจมตีในสิ่งที่สามารถในการต่อรองได้ และในช่วงนี้ราคาน้ำมันอาจจะมีความผันผวนเป็นส่วนกดดันให้สกุลเงินแคนาดามีความผันผวนเช่นเดียวกันแต่ก็แนะนำว่าควรติดตาม ในการกดดันในครั้งนี้
Source: ฐานเศรษฐกิจ เพิ่มเติมโดย Forexmonday