จีนเดินหน้าทดสอบ ‘ดวงอาทิตย์เทียม’ รอบใหม่ ตั้งเป้าให้ความร้อนและทนทานนานกว่าเดิม หวังใช้ผลิตพลังงานสะอาด
สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนรายงานว่า ทีมนักวิจัยของสถาบันวิทยาศาสตร์กายภาพแห่งเหอเฟย หรือ Hefei Institutes of Physical Science ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Sciences: CAS) ได้เดินหน้าทดสอบเตาปฏิกรณ์ Experimental Advanced Superconducting Tokamak (EAST) หรือดวงอาทิตย์เทียม รอบใหม่
รายงานอ้างอิงคำกล่าวของ ซ่งหยุนเทา รองผู้อำนวยการของสถาบันฯ ที่ระบุว่า การทดสอบรอบนี้มีเป้าหมายเพื่ออัปเกรดระบบช่วยทำความร้อนของเตาปฏิกรณ์ เพื่อทำให้ดวงอาทิตย์เทียมสามารถให้ความร้อนได้มากขึ้น และทำงานได้ทนทานนานมากขึ้น
ทั้งนี้ EAST ถือเป็นเตาปฏิกรณ์ฟิวชันที่สามารถทำให้อุณหภูมิพลาสมาสูงได้ถึง 120 ล้านองศาเซลเซียส เป็นเวลานาน 101 วินาที และอุณหภูมิสูงได้ถึง 160 ล้านองศาเซลเซียส เป็นเวลานาน 20 วินาที โดยจีนเริ่มดำเนินการโครงการเตาปฏิกรณ์ดังกล่าวในปี 2006 และเป็นโครงการทดสอบแบบเปิดให้นักวิทยาศาสตร์ชาวจีนและชาวต่างชาติเข้าร่วมศึกษาทดลองเพื่อพัฒนาการทดสอบกลไกการทำงานของปฏิกิริยาฟิวชัน
สำหรับเป้าหมายสูงสุดของ EAST คือการสร้างระบบนิวเคลียร์ฟิวชันที่ใช้พลังงานจากดวงอาทิตย์ โดยผสมผสานดิวเทอเรียมที่มีอยู่อย่างสมบูรณ์ในทะเล เพื่อให้ผลิตพลังงานสะอาดได้อย่างมีประสิทธิภาพและคงที่
รายงานระบุอีกว่า กว่า 10 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ก่อตั้งโครงการ มีนักวิทยาศาสตร์ชาวจีนและต่างประเทศมากกว่า 10,000 คนได้ทำงานร่วมกันเพื่อสานต่อความฝันของ ‘ดวงอาทิตย์เทียม’ โดยใช้อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ขนาดใหญ่นี้
โดยในเดือนพฤศจิกายนปี 2018 EAST สร้างอุณหภูมิอิเล็กตรอน 100 ล้านองศาเซลเซียสในพลาสมาแกนกลางของเตา คิดเป็นความร้อนเกือบ 7 เท่าของอุณหภูมิภายในดวงอาทิตย์ ขณะที่ปีที่แล้วโครงการ EAST ประสบความสำเร็จในการดันให้เตาผลิตอุณหภูมิพลาสมา 100 ล้านองศาเซลเซียสนาน 20 วินาที
รายงานการวิจัยระบุว่า เทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิวชันมีแนวโน้มนำไปใช้ได้อย่างกว้างขวางในการรักษาโรคมะเร็ง การขับเคลื่อนรถไฟแม็กเลฟ แม่เหล็กนิวเคลียร์ และการประยุกต์ใช้อื่นๆ โดยขณะนี้ตัวเตาปฏิกรณ์สร้างเสร็จสมบูรณ์ดีแล้ว แต่กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับระบบหลักของเครื่องปฏิกรณ์ฟิวชัน
แหล่งที่มาของข่าว
https://thestandard.co/china-continues-test-new-round-of-artificial-sun/