ธนาคารโลกระบุในรายงานความคืบหน้าด้านความมั่นคงทางอาหารบนเว็บไซต์ว่า เงินเฟ้อจากราคาอาหารภายในประเทศยังคงอยู่ในระดับสูงทั่วโลก โดยข้อมูลล่าสุดระหว่างเดือนก.พ. ? พ.ค. 2566 แสดงให้เห็นว่ามีเงินเฟ้อสูงในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำและปานกลางส่วนใหญ่ โดยเงินเฟ้อสูงกว่า 5% ใน 63.2% ของกลุ่มประเทศรายได้ต่ำ, 79.5% ของกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับล่าง และ 67% ของกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับบน โดยหลายประเทศมีตัวเลขเงินเฟ้อในอัตราเลขหลักสิบ
ขณะเดียวกัน 78.9% ของกลุ่มประเทศรายได้สูงก็เผชิญเงินเฟ้อจากราคาอาหารระดับสูงเช่นกัน โดยกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่อยู่ในทวีปแอฟริกา อเมริกาเหนือ ลาตินอเมริกา เอเชียใต้ ยุโรป และเอเชียกลาง โดยในแง่ที่แท้จริง เงินเฟ้อจากราคาอาหารทะลุเงินเฟ้อโดยรวมใน 80.1% ของ 166 ประเทศที่ธนาคารโลกสามารถเข้าถึงข้อมูลง
ธนาคารโลกระบุในรายงานช่วงสิ้นเดือนก.ค.ว่า นับตั้งแต่การรายงานความคืบหน้าครั้งที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2566 ดัชนีราคาภาคกสิกรรม การส่งออก และธัญพืชปรับตัวขึ้น 6%, 4% และ 10% ตามลำดับ โดยการปรับตัวขึ้นของราคาข้าวโพดและข้าวสาลี ซึ่งปรับตัวขึ้น 12% และ 14% ตามลำดับ หลังปรับลดลงในช่วงครึ่งแรกของเดือนก.ค. ได้ผลักดันให้ดัชนีราคาธัญพืชเพิ่มสูงขึ้น แต่ราคาข้าวยังคงมีเสถียรภาพ
อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบเป็นรายปีพบว่า ราคาข้าวโพดและข้าวสาลีปรับลดลง 15% และ 17% ตามลำดับ ขณะที่ ราคาข้าวปรับตัวขึ้น 16%
นอกจากนี้ ราคาข้าวโพด ข้าวสาลี และข้าวปรับตัวขึ้น 8%, 11% และ 3% ตามลำดับ จากเมื่อเดือนม.ค. 2564
ในวันที่ 17 ก.ค. 2566 รัสเซียประกาศว่าจะไม่ต่ออายุข้อตกลงความริเริ่มธัญพืชทะเลดำ (Black Sea Grain Initiative :BSGI) โดยตลาดคาดการณ์เอาไว้อยู่ก่อนแล้วว่ารัสเซียจะดำเนินการเช่นนี้เนื่องจากสถานการณ์ตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ยังคงไร้วี่แววยุติ ดังนั้นตลาดธัญพืชจึงไม่ค่อยมีปฏิกิริยามากนัก โดยราคาธัญพืชสำคัญและเมล็ดพืชน้ำมันสัญญาล่วงหน้าจึงปรับขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนราคาข้าวสาลีสัญญาล่วงหน้าพุ่ง 3% ในวันที่ 17 ก.ค. แต่ยังคงต่ำกว่าระดับสูงสุดของเมื่อปีก่อนหน้าอย่างชัดเจน ส่วนราคาข้าวโพดและถั่วเหลืองสัญญาล่วงหน้าพุ่งขึ้น ก่อนจะกลับคืนสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนที่รัสเซียจะประกาศยกเลิกข้อตกลง
อย่างไรก็ตาม ต่อมาในวันที่ 19 ก.ค. อินเดียได้ประกาศสั่งห้ามส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่พันธุ์บาสมาติ (Basmati) เนื่องจากรัฐบาลอินเดียต้องการควบคุมราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้นภายในประเทศ และรับประกันว่าจะมีปริมาณข้าวราคาเหมาะสมเพียงพอภายในประเทศ แม้มาตรการดังกล่าวจะลดราคาข้าวภายในอินเดีย เนื่องจากอินเดียเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลกที่สัดส่วนเกือบ 40% แต่กรณีดังกล่าวจะทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนและทำให้ราคาข้าวมีความผันผวน
ในรายงานสภาวะความไม่มั่นคงทางอาหารและโภชนาการโลกปี 2566 (2023 State of Food Insecurity and Nutrition) ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า อัตราคนอดอยากทั่วโลกไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนักระหว่างปี 2564 ? 2565 แต่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนจากช่วงก่อนเกิดโรคโควิด-19 ระบาด โดยประชากรโลกประมาณ 9.2% เผชิญความอดอยากในปี 2565 เทียบกับ 7.9% ในปี 2562
แหล่งที่มาของข่าว…