“พาวเวล” ยันเฟดพร้อมปรับนโยบายเพื่อกระตุ้นจ้างงาน,รักษาเสถียรภาพเงินเฟ้อ
นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวในวันนี้ว่า เจ้าหน้าที่เฟดจะปรับนโยบายเพื่อเพิ่มการจ้างงานในสหรัฐ ขณะที่สร้างความมั่นใจว่าเงินเฟ้อจะไม่ดีดตัวสูงขึ้นเป็นเวลานาน
นายพาวเวลระบุว่า เฟดกำลังจับตาสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ขณะที่เฟดจะใช้เครื่องมือเพื่อสร้างความสมดุลต่อเป้าหมาย 2 ประการของเฟด ซึ่งได้แก่ การทำให้สหรัฐมีการจ้างงานอย่างเต็มศักยภาพ และสร้างเสถียรภาพด้านราคา
“นักวิเคราะห์แทบทุกคนคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า แต่ประเด็นสำคัญคือ เราไม่สามารถมั่นใจว่าสถานการณ์จะเป็นเช่นนั้น โดยเราต้องใช้นโยบายของเราในการรับมือกับผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้นได้หลายทาง ไม่เพียงแต่ผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้นได้มากที่สุด” นายพาวเวลกล่าวต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรในวันนี้
นายพาวเวลยังระบุว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐมีความแข็งแกร่งกว่าประเทศอื่นที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ โดยได้รับการสนับสนุนจากการใช้มาตรการด้านการคลังอย่างแข็งแกร่ง
ส่วนในการกล่าวถ้อยแถลงต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาเมื่อวานนี้ นายพาวเวลได้ส่งสัญญาณยุติโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) โดยกล่าวว่า เฟดอาจปรับลดวงเงิน QE มากกว่าเดือนละ 15,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเฟดจะทำการหารือกันในการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 14-15 ธ.ค.
“ขณะนี้ เศรษฐกิจมีความแข็งแกร่งมาก และแรงกดดันจากเงินเฟ้อได้เพิ่มสูงขึ้น ผมจึงเห็นว่าถึงเวลาเหมาะสมแล้วที่เฟดจะพิจารณายุติโครงการซื้อพันธบัตรให้เร็วขึ้นกว่าเดิมหลายเดือน โดยเราจะหารือกันในการประชุมครั้งต่อไป” นายพาวเวลกล่าว
ทั้งนี้ คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 0.00-0.25% ในการประชุมวันที่ 3 พ.ย. และเฟดจะปรับลดวงเงิน QE เดือนละ 15,000 ล้านดอลลาร์ เริ่มตั้งแต่เดือนพ.ย. โดยเฟดจะปรับลดวงเงินซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเดือนละ 10,000 ล้านดอลลาร์ และปรับลดวงเงินซื้อตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) เดือนละ 5,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งการลดวงเงิน QE ดังกล่าวจะทำให้เฟดยุติการทำ QE โดยสิ้นเชิงในกลางปี 2565
ก่อนหน้านี้ เฟดได้ทำ QE เดือนละ 120,000 ล้านดอลลาร์ โดยเฟดซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐวงเงิน 80,000 ล้านดอลลาร์ และซื้อตราสารหนี้ MBS ในวงเงิน 40,000 ล้านดอลลาร์
แหล่งที่มาของข่าว