หลังจากถูกนานาประเทศรุมใช้ มาตรการแซงก์ชั่น อย่างหนัก รัฐบาลรัสเซียงัดแผนตอบโต้ด้วยการห้ามส่งออกสินค้าสำคัญไปยังประเทศที่พิพาทกันอยู่ในศึกยูเครน รวมถึงยึดกิจการสาขาของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้วย
วันที่ 11 มีนาคม 2565 บีบีซี รายงานว่า รัสเซียเริ่มตอบโต้ชาติตะวันตกที่ใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจ หรือ แซงก์ชั่น ต่อรัสเซีย จากการยกทัพบุกยูเครน ด้วยการห้ามส่งออกสินค้าไปยังประเทศเหล่านี้ จนถึงสิ้นปี 2565 อีกทั้งยังจำกัดเรือต่างชาติที่เข้ามาเทียบท่าของรัสเซียอย่างเข้มงวด
“มาตรการเหล่านี้เป็นการตอบโต้อย่างสมควรแล้วกับประเทศที่แซงก์ชั่นรัสเซีย” กระทรวงเศรษฐกิจรัสเซียแถลง พร้อมให้รายละเอียดเพิ่มว่า ประเทศที่ถูกแบนครั้งนี้มีพฤติกรรมที่ไม่เป็นมิตรต่อรัสเซีย ดังนั้นรัสเซียต้องไม่ให้กลไกสำคัญทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก
สินค้าส่งออกที่สำคัญของรัสเซีย ได้แก่ เทเลคอม ยา พาหนะ สินค้าเกษตร อุปกรณ์ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์จากป่า รวมถึงไม้สัก
สำหรับประเทศที่ถูกรัสเซียขึ้นบัญชีว่าไม่เป็นมิตรมีอย่างน้อย 48 ประเทศ* รวมถึงสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป หรือ อียู ที่ใช้ มาตรการแซงก์ชั่น ด้วยวิธีระงับการซื้อน้ำมันรัสเซียและอายัดทรัพย์มหาเศรษฐีที่ใกล้ชิด ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย
นายมิกฮาอิล มีชุสติน นายกรัฐมนตรีรัสเซีย กล่าวว่า มาตรการห้ามส่งออกสินค้า มุ่งใช้กับบริษัทต่างชาติที่มีกิจการในรัสเซีย รวมถึงรถยนต์ ตู้รถไฟ และคอนเทนเนอร์
ส่วนนายเซอร์เก ลาฟรอฟ รมว.การต่างประเทศ กล่าวในการแถลงข่าวที่ตุรกีว่า ประธานาธิบดีปูตินดูแลเศรษฐกิจอยู่ และจะนำพาให้ประเทศก้าวข้ามไปได้
“เราจะรับมือเรื่องนี้ เราเคยรับมือกับปัญหาความยากลำบากในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อมาหมดแล้วในประวัติศาสตร์ของเรา รัสเซียจะก้าวออกจากวิกฤตด้วยจิตใจและสติสัมปชัญญะที่ดีขึ้น”
“เราไม่ได้มีภาพลวงตาว่า ชาติตะวันตกเป็นหุ้นส่วนที่เชื่อถือได้ พวกนั้นทรยศใครก็ได้ แม้แต่อุดมการณ์ของตัวเอง ผมบอกคุณให้มั่นใจได้เลยว่าเราจะรับมือได้ และจะทำทุกสิ่งที่ไม่ต้องขึ้นกับชาติตะวันตกไปตลอด ไม่ว่าจะเป็นส่วนใดในชีวิตของเรา”
ด้าน บลูมเบิร์ก สื่อธุรกิจชั้นนำของสหรัฐ รายงานว่า รัฐบาลรัสเซียจะยังยึดกิจการของประเทศตะวันตกและพันธมิตรชาติตะวันตกอื่นๆ ที่ปิดสาขากิจการ ร้านค้าต่างๆ ในรัสเซียไว้ชั่วคราว
หากเป็นไปตามนี้ จะตรงกับที่นายดมิทรี เมดเวเดฟ อดีตประธานาธิบดีรัสเซียเตือนว่า ทรัพย์สินของบริษัทชาติตะวันตกที่ถอนออกไปจากรัสเซียจะถูกยึดไว้เป็นของรัฐ
สำหรับบริษัทที่ถอนการลงทุนและระงับกิจการสาขาต่างๆ ในรัสเซีย มีทั้งภาคอุตสาหกรรมเหมืองรายยักษ์ใหญ่ อย่าง เคเทอร์พิลลาร์ และริโอ ทินโต ไปจนถึงบริษัทที่มีสาขาแพร่หลายทั่วโลก อย่าง สตาร์บักส์ แมคโดนัลด์ โซนี ยูนิลิเวอร์ โกลด์แมนแซค
เมื่อวันพุธที่ 9 มี.ค. รัฐบาลรัสเซียอนุมัติการใช้กฎหมายที่จะนำไปสู่การยึดทรัพย์สินของบริษัทที่ถอนตัวจากรัสเซีย และมีชาวต่างชาติเป็นเจ้าของอยู่เกิน 25% ตามนโยบายที่รัฐบาลจะเข้าควบคุมแทน
“รัฐบาลรัสเซียพร้อมจะดำเนินมาตรการ ที่มีทั้งการประกาศให้บริษัทเหล่านี้ล้มละลาย และยึดกิจการของต่างชาติมาเป็นของรัฐ”
“บริษัทต่างชาติต้องเข้าใจด้วยว่าการกลับเข้ามาตลาดของเราอีกจะเป็นเรื่องยาก หลังจากบรรดานักลงทุนสร้างความตื่นตระหนกให้กับชาวรัสเซียที่ตอนนี้อาจสูญเสียการดำรงชีวิต” นายเมดเวเดฟกล่าว และว่า “บรรดาเจ้าของธุรกิจเหล่ามีเวลา 5 วันที่จะกลับมาเปิดกิจการ หรือต้องไปทางหนทางอื่น เช่น ขายหุ้น”
ตามแผนการนี้ ศาลกรุงมอสโกจะพิจารณาคำร้องของสมาชิกบอร์ดและอื่นๆ ที่จะนำผู้จัดการนอกบริษัทเข้ามาจัดการ ในที่นี้รวมถึงธนาคารเพื่อการพัฒนา VEB.RF และจากนั้นจะยึดหุ้นของบริษัทเหล่านี้ไว้เพื่อรักษาอสังหาริมทรัพย์และพนักงานไว้
“มาตรการเหล่านี้มุ่งขายสินทรัพย์มากกว่ายึดเข้าเป็นของรัฐ เพราะต้องการกระตุ้นให้กิจการที่อยู่ภายใต้การควบคุมของต่างชาติอย่าละทิ้งกิจรรมต่างๆ ที่อยู่ในพรมแดนของรัสเซีย” กระทรวงเศรษฐกิจรัสเซียระบุ
หมายเหตุ รายชื่อ 48 ประเทศ/ดินแดน ที่รัสเซียระบุว่า มีพฤติกรรมไม่เป็นมิตร ได้แก่ แอลเบเนีย อันดอร์รา ออสเตรเลีย แคนาดา สหภาพยุโรป (27 ประเทศ) ไอซ์แลนด์ ญี่ปุ่น ลิกเตนสไตน์ ไมโครนีเซีย โมนาโก มอนเตเนโกร นิวซีแลนด์ มาซิโดเนียเหนือ นอร์เวย์ ซานมารีโน สิงคโปร์ เกาหลีใต้ สวิตเซอร์แลนด์ ไต้หวัน ยูเครน สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา
แหล่งข้อมูลของข่าว…