สหรัฐจะขึ้นดอกเบี้ยอย่างไร-ไทยกระทบหรือเปล่า | บัณฑิต นิจถาวร
สถานการณ์เงินเฟ้อสหรัฐนับวันจะน่าห่วง ล่าสุดอัตราเงินเฟ้อวัดจากดัชนีราคาผู้ผลิตขึ้นเกือบร้อยละ 10 ในเดือนพฤศจิกายน ชี้ชัดว่าเงินเฟ้อกำลังเป็นปัญหาใหญ่ ธนาคารกลางสหรัฐก็ตระหนักเรื่องนี้และแถลงว่าจะลดการอัดฉีดสภาพคล่องเร็วขึ้น เพื่อปูทางไปสู่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยกลางปีหน้า
แต่ความท้าทายคือ ธนาคารกลางสหรัฐจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยช้าไปหรือไม่ เทียบกับโมเมนตัมเงินเฟ้อที่กำลังแรงขณะนี้ ล่าสุดธนาคารกลางอังกฤษและนอร์เวย์ก็ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นแล้ว
ตอบคำถามแรกเรื่องกระบวนการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ อัตราดอกเบี้ยคือต้นทุนทางการเงินของระบบเศรษฐกิจ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหมายถึงการทำให้อัตราดอกเบี้ยในระบบเศรษฐกิจทั้งโครงสร้าง คือ อัตราดอกเบี้ยทั้งสั้นและยาวในทุกประเภทตราสารการเงินปรับสูงขึ้น เพื่อลดการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจและแรงกดดันของเงินเฟ้อ
ความเสี่ยงคือ อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้นในจังหวะที่สภาพคล่องในระบบการเงินยังมีมาก ไม่กดดันให้อัตราดอกเบี้ยอื่นๆ ปรับสูงขึ้นตาม ผลคือนโยบายการเงินไม่มีประสิทธิผลในการแก้ปัญหาเงินเฟ้อ
เพื่อลดความเสี่ยงนี้ ขั้นตอนปกติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะมีสามขั้นตอน หนึ่ง ลดและหยุดการอัดฉีดสภาพคล่อง สอง ดูดสภาพคล่องออกจากระบบเพื่อให้ระดับสภาพคล่องเหมาะกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ย สาม ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ธนาคารกลางสหรัฐขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนแรก
ในแง่นโยบาย การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมีความเสี่ยงสองเรื่อง หนึ่ง อัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นช้าเกินไป เช่น แผนการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐกลางปีหน้าที่อาจช้าไป
ถ้าตัวเลขเงินเฟ้อเดือนธันวาคมและมกราคมปีหน้าออกมาสูงขึ้น ทำให้มีโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐจะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเร็วกว่าที่กำหนด ไม่รอขั้นตอนที่สองหรือทำขั้นตอนที่สองไปพร้อมกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ซึ่งถ้าเกิดขึ้น ตลาดการเงินโลกจะผันผวนเพราะทุกอย่างเป็นเซอร์ไพรส์ที่มาเร็วกว่ากำหนด เหมือนกรณีธนาคารกลางอังกฤษที่ทั้งขึ้นดอกเบี้ยและจะยังอัดฉีดสภาพคล่อง ทำให้ตลาดการเงินสับสนมาก
สอง มี Time lag หรือเงื่อนเวลาห่างระหว่างการขึ้นดอกเบี้ยกับการลดลงของเงินเฟ้อที่จะใช้เวลาและอาจนานถึงครึ่งปีหรือมากกว่า เพราะอัตราเงินเฟ้อจะไม่ลดลงทันทีที่ธนาคารกลางสหรัฐปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น ทำให้ปีหน้าเงินเฟ้อจะเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจทั้งปี
ด้วยเหตุนี้ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐจะไม่ใช่ครั้งเดียวจบ แต่จะขึ้นติดๆ กัน เพื่อให้ตลาดการเงินและภาคธุรกิจมั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับลดลงในอนาคต
ตอบคำถามที่สองว่า ไทยต้องปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นตามหรือไม่ คำตอบคือคงเลี่ยงไม่ได้ ต้องขึ้นไม่ช้าก็เร็ว เพราะเศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจเปิด ทำให้ระดับราคาที่สูงขึ้นในต่างประเทศจะส่งผลทันทีต่อระดับราคาในประเทศ ตัวอย่างเช่น ราคาน้ำมัน
ประเด็นที่ต้องตระหนักคือ เศรษฐกิจไทยมีอัตราเงินเฟ้อต่ำมาตลอด คือ เฉลี่ยร้อยละ 2.6 ต่อปีช่วงปี 2000-2014 โดยได้ประโยชน์จากระบบโลกาภิวัตน์ การแข่งขันที่มีมากในเศรษฐกิจ และนโยบายการเงินที่มีอัตราเงินเฟ้อเป็นเป้าหมายที่สร้างความมั่นใจให้กับภาคธุรกิจว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในเกณฑ์ต่ำต่อไป
อย่างไรก็ตาม วิกฤติโควิดทำให้ปัจจัยเหล่านี้เปลี่ยนไป ระบบโลกาภิวัตน์กำลังถูกทดสอบจากปัญหาคอขวดในห่วงโซ่การผลิตที่การผลิตปรับไม่ทันความต้องการใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นจนเกิดปัญหาเงินเฟ้อ
นอกจากนี้ การแข่งขันในเศรษฐกิจเราก็ลดลงจากอำนาจตลาดและการควบรวมธุรกิจของบริษัทขนาดใหญ่ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมค้าปลีกค้าส่ง ทำให้มาร์จิ้นกำไรของบริษัทเหล่านี้มีมากและกำไรของบริษัทสามารถเพิ่มได้ด้วยการขึ้นราคาสินค้า แม้ต้นทุนการผลิตจะสูงขึ้นก็ตาม
ดังนั้น มีความเป็นไปได้สูงที่ปัญหาเงินเฟ้อบ้านเราจะรุนแรงขึ้นในปีหน้า กระทบค่าครองชีพและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เป็นปัญหาที่ทางการต้องแก้ไข ซึ่งในการแก้ไขมีสองเรื่องที่ต้องระวังเพื่อไม่ให้ผิดพลาด
หนึ่ง ทางการอาจประเมินว่าเงินเฟ้อไม่เป็นปัญหา เพราะอัตราเงินเฟ้อที่สะท้อนจากดัชนีราคาผู้บริโภคไม่ได้เพิ่มขึ้นสูง ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะกว่าร้อยละ 35 ของสินค้าที่อยู่ในตะกร้าสินค้าผู้บริโภคเป็นสินค้าที่ราคาอยู่ในการควบคุมของทางการ เช่น ค่าโดยสาร ราคาน้ำมัน ค่าไฟฟ้า
ดังนั้น การประเมินสถานการณ์เงินเฟ้อต้องใช้ข้อมูลกว้างและใช้ดัชนีหลายตัว เช่น ดัชนีราคาสินค้านำเข้า ดัชนีราคาผู้ผลิต เพื่อไม่ให้ผิดพลาดและนำไปสู่การตัดสินใจที่ทันเหตุการณ์
สอง ทางการอาจเลือกควบคุมราคาในการแก้เงินเฟ้อมากกว่าใช้กลไกอัตราดอกเบี้ยแก้ปัญหาเพราะห่วงผลกระทบที่จะมีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ด้วยเหตุนี้ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยจึงต้องเป็นการตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศ เพื่อให้การดำเนินนโยบายการเงินสะท้อนความจำเป็นของสถานการณ์ตามข้อเท็จจริงและปลอดจากการแทรกแซง.
แหล่งที่มาของบทความ….