ธนาคารกลางจีน (PBOC) ปรับลดดอกเบี้ยอ้างอิงเพื่อลดต้นทุนการกู้ยืมในประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง หลังจากเมื่อวันที่ 17 มกราคมที่ผ่านมาเพิ่งจะประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ประเภท 1 ปี หรืออัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.1% สู่ระดับ 2.85%
โดยในวันนี้ (20 มกราคม) PBOC ได้ประกาศปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี หรือ Loan Prime Rate (LPR) ประเภท 1 ปี ลง 0.10% สู่ระดับ 3.7% จากระดับ 3.80% และได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย LPR ประเภท 5 ปี ลง 0.05% สู่ระดับ 4.6% จากระดับ 4.65% โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ย LPR ประเภท 5 ปีในครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือนเมษายน 2020
ข้อมูลจาก Reuters ระบุว่า อัตราดอกเบี้ย LPR ประเภท 1 ปีของจีนถือเป็นดอกเบี้ยอ้างอิงที่ใช้อยู่ในสินเชื่อธุรกิจส่วนใหญ่ ขณะที่อัตราดอกเบี้ย LPR ประเภท 5 ปีเป็นดอกเบี้ยอ้างอิงที่ใช้กับสินเชื่อที่อยู่อาศัย
บรูซ แปง นักวิเคราะห์จาก China Renaissance ระบุว่า การปรับลดดอกเบี้ยหลากหลายประเภทของธนาคารกลางจีนในรอบสัปดาห์นี้ จะช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจขนาดเล็กที่กำลังเผชิญแรงกดดันและความเสี่ยงจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวได้ ขณะเดียวกันยังสะท้อนว่า PBOC รับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและไม่ได้นิ่งนอนใจ
เชนา หยู นักเศรษฐศาสตร์จาก Capital Economics เชื่อว่าดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านที่ถูกลงจะช่วยกระตุ้นความต้องการซื้อบ้านในจีนได้ไม่มากก็น้อย โดยมองว่าการปรับลดดอกเบี้ย LPR ประเภท 5 ปีนี้ เป็นการมุ่งเป้าให้ความช่วยเหลือตลาดอสังหาริมทรัพย์โดยตรงของทางการจีน
ด้านยีเหว่ยหยาง นักวิเคราะห์จาก Guosheng Securities กล่าวว่า ความพยายามลดต้นทุนการกู้ยืมของ PBOC สะท้อนว่าเศรษฐกิจจีนกำลังอ่อนแอและมีโอกาสที่จีนจะลดดอกเบี้ยต่างๆ เพิ่มเติมได้อีก
ในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาทางการจีนเปิดเผยตัวเลข GDP ในปี 2021 ว่าขยายตัวได้ที่ 8.1% อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจจีนในช่วงไตรมาส 4 ของปีที่ผ่านมากลับเติบโตได้เพียง 4% ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวต่ำสุดในรอบปีครึ่ง จากปัจจัยเชิงลบ ทั้งวิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์ การแพร่ระบาดของโควิด และการประกาศใช้นโยบาย Zero-Tolerance เพื่อควบคุมการระบาดของรัฐบาลจีน
ทั้งนี้นักเศรษฐศาสตร์หลายรายได้ออกมาเตือนว่า การใช้นโยบาย Zero COVID ของทางการจีน จะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงในปี 2022 โดยเมื่อเร็วๆ นี้ Goldman Sachs ปรับลดคาดการณ์ GDP จีนในปีนี้จาก 4.8% เหลือ 4.3%
แหล่งที่มาของข่าว