เช็กทิศทาง KUB Coin หลัง ธปท.-ก.ล.ต. เล็งคุมเข้มสินทรัพย์ดิจิทัล
เช็กสัญญาน KUB Coin -Bitkub หลังจากที่ ก.ล.ต. เตรียมทบทวนหลักการออกใบอนุญาตผู้ให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัล ขณะที่ ธปท.ออกมาแสดงความกังวลและไม่สนับสนุนการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ชำระค่าสินค้าและบริการ
สร้างกระแสให้กับวงการ Cryptocurrency ซี่ไม่น้อย หลังจากที่ KUB Coin เหรียญคริปโทฯ ที่พัฒนาขึ้นโดย Bitkub สตาร์ทอัพบริษัทผู้ให้บริการด้านบล็อกเชนและสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย ทำราคา To the moon ไปแล้วเรียบร้อย เมื่อช่วงหลายวันที่ผ่านมา หรือที่นักลงทุนหมายถึงช่วงราคาพุ่งสูงขึ้น เปรียบเสมือนกราฟเป็นจรวดที่กำลังทะยานออกไปนอกโลก ซึ่งราคาเหรียญ KUB ปรับตัวขึ้นไปทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ (All Time High) ที่ระดับ 444 บาทเมื่อวันที่ 29 พ.ย.ที่ผ่านมานี้เอง นับเป็นการปรับขึ้นอย่างร้อนแรงและรวดเร็ว ทำเอาบรรดานักลงทุนรายย่อยต่างพากันกลัวตกรถกันเป็นแถว
หากจะย้อนไปดูราคา KUB Coin พบว่าราคาเริ่มปรับตัวขึ้นร้อนแรงตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน ซึ่งช่วงเวลานั้นเหรียญ KUB เคลื่อนไหวอยู่ที่บริเวณ 68 บาท จนกระทั่งปรากฏข่าวความร่วมมือระหว่าง Bitkub กับกลุ่มเดอะมอลล์ ก่อนจะมีการแถลงรายละเอียดของความร่วมมือของทั้ง 2 บริษัทในวันรุ่งขึ้น นั่นเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ราคาเหรียญ KUB ยังคงพุ่งทะยานขึ้นต่อเนื่อง เท่ากับว่าในระยะเวลาเพียงแค่ 6 วัน ราคาเหรียญ KUB พุ่งขึ้นมาราว 550% แม้ว่าล่าสุดราคาจะย่อตัวลงมาอยู่ที่ราวๆ 268 บาท/เหรียญ ก็ตาม แต่ก็ได้ส่งผลให้ Bitkub กลายมาเป็น Exchange หรือแพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีมูลค่าตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) สูงติด 1 ใน 10 ของโลกไปแล้ว
ความเนื้อหอมของ Bitkub ยังคงไม่หมด เพราะจะเห็นได้จากข่าวคราวความร่วมมือด้านบล็อกเชน ความร่วมมือกับบรรดาธุรกิจค้าปลีก อสังหาริมทรัพย์ ที่ทยอยออกมา และดูเหมือนว่าจะทำให้บิทคับยังคง HOT และมีแนวโน้มว่าจะยังมีดีลธุรกิจอีกหลายๆดีลออกมาให้ได้เห็นกันเรื่อยๆ ขณะเดียวกันมีการเปิดเผยจาก จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้ง Bitkub ว่า บริษัท Bitkub Online อยู่ระหว่างสำรวจโอกาสในการจัดตั้งหน่วยงานของตนเองหรือร่วมมือกับผู้เล่นที่มีอยู่ในประเทศต่าง ๆ เช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และลาวในปีหน้า โดยเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์จะยังคงเหมือนกับ Bitkub หลังจากที่ประสบความสำเร็จในประเทศไทย มีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 1,000% ต่อปี นับตั้งแต่เริ่มดำเนินการในปี 2018 ก่อนที่ในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา จะตกลงให้ SCB เข้าถือซื้อกิจการและถือหุ้นใหญ่กว่า 51% จนทำให้ สตาร์ทอัพรายนี้ขึ้นแท่นเป็นยูนิคอนร์นตัวใหม่ของวงการไปโดยทันที
ด้านหน่วยงานภาครัฐอย่าง การท่องเที่ยวแห่งประเทศเทศไทย (ททท.) ก็ดูเหมือนว่าจะมองเห็นโอกาสจากนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เช่นกัน โดย ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นายยุทธศักดิ์ สุภสร มองว่าการเกาะกระแสนิยมจากตลาดการลงทุนทั่วโลก ด้วยการดึงดูกลุ่มนักลงทุนถือคริปโตอย่างทิม คุก ให้เข้ามาใช้สกุลเงินดิจิทัลในไทยก็เป็นอีกช่องทางการทำตลาดที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย เพราะปัจจุบันมีคนจำนวนมากที่กลายเป็นมหาเศรษฐีจากการถือครองเหรียญดิจิทัล และ กลุ่มคนเหล่านี้ก็ต้องการที่จะใช้คริปโตที่พวกเขาหามาได้ในการซื้อสินค้า และ บริการต่าง ๆ ด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งหากกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มนี้สามารถใช้สกุลเงินดิจิทัลชำระค่าสินค้า และ บริการในประเทศได้โดยที่ไม่ต้องแลกเปลี่ยนเป็นเงินสด หรือ ต้องเผชิญกับค่าภาษีจากทางรัฐบาล ก็จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับทางเราอย่างมาก แต่โปรเจกต์ดังกล่าวอาจต้องใช้เวลาในการพัฒนาอีกสักระยะหนึ่งก่อนที่บรรดานักท่องเที่ยวจะสามารถเริ่มใช้สกุลเงินดิจิทัลอย่าง Bitcoin (BTC), Ethereum (ETH) และ เหรียญสกุลอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศได้ เนื่องจากประเทศไทยยังไม่ได้ให้การยอมรับว่าสกุลเงินดิจิทัลเป็นสินทรัพย์ที่สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย
แต่หลายคนอาจจะรู้สึกชะงักไปบ้าง โดยเฉพาะผู้ที่ถือ KUB Coin และตั้งข้อสังเกตด้วยว่าเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ราคา KUB หยุดพุ่งไปในช่วงนี้หรือไม่ เมื่อล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท. ) และ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ออกมาดักคอ บรรดาผู้ให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัล โดยที่ทาง ธปท. ออกโรงว่าไม่สนับสนุนให้นำคริปโทเคอเรนซี่หรือสินทรัพย์ดิจิทัลมาชำระค่าสินค้าและบริการ เนื่องจากเห็นว่ายังมีความผันผวนสูง และเสี่ยงจากการถูกโจรกรรมทางไซเบอร์
ขณะที่ ก.ล.ต. เองก็เตรียมทบทวนหลักการที่กำหนดให้ผู้ให้บริการกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลที่รับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ต้องได้รับใบอนุญาต และกำหนดหลักเกณฑ์ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมีการให้บริการกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อป้องกันการนำไปเป็นเครื่องมือการกระทำความผิด หรือเป็นช่องทางให้มิจฉาชีพทำผิดกฎหมาย ตอนนี้ ก.ล.ต. จึงยังอยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นร่างประกาศเกี่ยวกับการกำกับดูแลผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล และการให้บริการกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าดังกล่าวข้างต้น ไปจนถึงสิ้นปีนี้ (31 ธ.ค.64) จึงจะมีการประกาศออกมาเป็นกฏหมายบังคับใช้อีกที
แม้ว่าจะมีหลายตัวแปรที่ทำให้การ To the moon ของ KUB Coin ถูกดับฝัน หรืออาจจะเตรียมได้ขึ้นยานกันอีกรอบหรือไม่นั้น ไม่มีใครรู้ได้ เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้ในทุกตลาดยิ่ง Cryptocurrency เป็นตลาดที่มีความผันผวนแรง ดังนั้นผู้ที่สนใจจะเข้ามาเล่นตลาดนี้ต้องไม่ลืมว่ามีความเสี่ยงสูงด้วยเช่นกัน และแม้ว่าจะถูกพูดถึงกันมาหลายปีแต่ก็ยังถือเป็นเรื่องใหม่ในวงการเศรษฐกิจ การเงิน และการลงทุนของประเทศไทย นักลงทุนที่สนใจเข้าลงทุนจึงควรศึกษาพื้นฐานของเหรียญให้ละเอียดมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และต้องยอมรับความเสี่ยงมหาศาลนี้ได้เช่นกัน
แหล่งที่มาของข่าว