คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติเอกฉันท์ภายหลังการประชุมเมื่อวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมาว่า จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมคือ 0.00-0.25% พร้อมกับจะเร่งความเร็วในการลดวงเงินซื้อสินทรัพย์ภายใต้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) มากขึ้นไปอีกเท่าตัว จากเดิมที่จะลดวงเงินเดือนละ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ก็จะเพิ่มเป็นเดือนละ 3 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งจะทำให้ตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2022 เป็นต้นไป จะเหลือวงเงินคิวอีเพียงเดือนละ 6 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นเพียงครึ่งเดียวของระดับที่เคยจัดซื้อก่อนเดือนพฤศจิกายนปีนี้ เนื่องจากเงินเฟ้อที่พุ่งสูงเป็นเวลานานและเป็นวงกว้างกว่าที่คาด
ตลอดช่วงที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบรุนแรงจากโควิด-19 เฟดได้ใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายมากที่สุดในประวัติศาสตร์ 108 ปี โดยเข้าซื้อสินทรัพย์ทั้งพันธบัตรและตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อบ้านเป็นหลักประกัน เดือนละ 1.2 แสนล้านดอลลาร์
ต่อมาในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ หลังจากเศรษฐกิจฟื้นตัวแข็งแกร่งพร้อมกับเงินเฟ้อสูงต่อเนื่อง เฟดได้ประกาศแผนจะลดการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ ด้วยการลดวงเงินคิวอีเดือนละ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ และกำหนดจะเสร็จสิ้นกระบวนการเดือนมิถุนายนปีหน้า
อย่างไรก็ตาม ภาวะเงินเฟ้อสูงที่กินเวลานานกว่าที่คาด โดย ณ เดือนพฤศจิกายน 2021 เงินเฟ้อทั่วไปทำสถิติสูงสุดในรอบ 39 ปีที่ 6.8% ทำให้เฟดเปลี่ยนมุมมองเงินเฟ้อจากที่คิดว่าเป็นเพียงภาวะชั่วคราว นำมาสู่มติการประชุมครั้งนี้ที่จะเร่งการลดคิวอีและจบสิ้นกระบวนการเร็วกว่าเดิมคือภายในเดือนมีนาคมปีหน้า หลังจากนั้นจะเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งจากคาดการณ์ทิศทางดอกเบี้ยของกรรมการรายบุคคล หรือ dot plot บ่งชี้ว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีหน้า และอีก 2 ครั้งในปี 2023 จากนั้นปี 2024 ปรับขึ้นอีก 2 ครั้ง
มติของที่ประชุมเฟดครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินอย่างมาก โดยถ้อยแถลงตอนหนึ่งระบุว่า ความไม่สมดุลระหว่าง “อุปสงค์” และ “อุปทาน” ที่เกี่ยวข้องกับการระบาดของโควิด-19 และการเปิดเศรษฐกิจ ส่งผลให้ระดับเงินเฟ้อสูง โดยเฟดได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปปีนี้ จาก 4.2% เป็น 5.3% และเงินเฟ้อพื้นฐานจาก 3.7% เป็น 4.4% ส่วนปีหน้าเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ที่ 2.6% เงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 2.7%
ขณะที่อัตราการว่างงานปีนี้จะลดต่ำลงเหลือ 4.3% จากเดิม 4.8% เพราะอัตราการจ้างงานแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่เดือนมานี้่ คาดการณ์จีดีพีสำหรับปีนี้ถูกปรับลงเหลือเพียง 5.5% จากเดิม 5.9% ส่วนปีหน้าปรับขึ้นจาก 3.8% เป็น 4%
ด้าน “เจอโรม พาวเวลล์” ประธานเฟด ให้สัมภาษณ์ว่า พัฒนาการเศรษฐกิจและความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเกี่ยวกับมุมมองเศรษฐกิจเป็นเหตุให้นโยบายการเงินต้องเปลี่ยนแปลงไปเพื่อที่จะสามารถสนับสนุนเศรษฐกิจได้อย่างเหมาะสม
ตลาดหุ้นสหรัฐตอบสนองทางบวกต่อผลการประชุมครั้งนี้ โดยดัชนีดาวโจนส์ เพิ่มขึ้น 383.25 จุด หรือ 1.08% ปิดตลาดที่ 35,927.43 จุด เอสแอนด์พี 500 เพิ่มขึ้น 75.76 จุด หรือ 1.63% ปิดที่ 4,709.85 จุด แนสแดค ปรับขึ้น 327.94 จุด หรือ 2.15% ปิดที่ 15,565.58 จุด ทั้งที่ก่อนหน้านี้ติดลบทั้ง 3 ดัชนี
“จิม เครอน” หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุนของมอร์แกน สแตนลีย์ อินเวสเมนต์ฯ ชี้ว่า ตลาดตอบสนองทางบวก เพราะความไม่แน่นอนถูกกำจัดออกไปแล้ว ตลาดเกิดความโล่งใจ แม้ว่าการลดคิวอีจะมากไปหน่อย แต่ก็เป็นสิ่งที่เราคาดไว้อยู่แล้ว ตอนนี้เราเห็นแล้วว่าการขึ้นดอกเบี้ยกำลังจะเกิดขึ้นและเกิดขึ้นเร็วแค่ไหน จากนี้ไปตลาดก็เพียงโฟกัสความสนใจไปที่รายได้และการเติบโตของบริษัทในตลาดหุ้น
ขณะที่ เดวิด เคลลี่ หัวหน้านักกลยุทธ์ลงทุนระดับโลก “เจพีมอร์แกน” เห็นว่า เฟดควรเร่งกรอบเวลาขึ้นดอกเบี้ยไปพร้อมกับการลดคิวอี เพราะขณะนี้อัตราการว่างงานต่ำมากและเรามีเงินเฟ้อสูงมาก ไม่เห็นด้วยที่ว่าโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนจะกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน ไม่เหมาะสมที่เฟดจะตรึงดอกเบี้ยต่ำไว้อย่างนี้ เพราะจะทำให้เกิดฟองสบู่สินทรัพย์
แหล่งที่มาของข่าว