อังกฤษ เยอรมนี และอิตาลี เป็นสามประเทศล่าสุดที่พบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน” ส่วนอีก 2 ประเทศกำลังลุ้น
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 อัลจาซีรา รายงานว่า อังกฤษ เยอรมนี และอิตาลี กลายเป็นสามประเทศล่าสุดที่พบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอน ขณะที่หลายประเทศได้ระงับการเดินทางจากแอฟริกาตอนใต้แล้ว แม้จะขัดต่อคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ตาม
โอไมครอน ซึ่ง WHO ประกาศให้เป็นเชื้อกลายพันธุ์ที่น่ากังวล เป็นเชื้อโควิดที่มีโอกาสแพร่ระบาดมากกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญจะยังไม่ทราบว่า มันจะทำให้มีอาการรุนแรงมากน้อยแค่ไหนเมื่อเทียบกับสายพันธุ์ก่อนหน้า
อังกฤษพบ 2 ราย
“ซาจิด จาวิด” รัฐมนตรีสาธารณสุขเผยว่า อังกฤษพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนแล้ว 2 ราย เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา โดยทั้งคู่มีความเชื่อมโยงกับการเดินทางไปแอฟริกาใต้
ต่อมา “บอริส จอห์นสัน” นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ได้ออกมาตรการ ซึ่งรวมถึงข้อกำหนดเรื่องการตรวจหาเชื้อที่เข้มงวดขึ้นสำหรับผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ แต่ไม่ได้ออกมาตรการที่เข้มงวดเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมทางสังคม เพียงแต่ขอให้ประชาชนสวมหน้ากากในบางพื้นที่
“เราจะกำหนดให้ทุกคนที่เดินทางเข้าอังกฤษทำการทดสอบ PCR ภายในวันที่สองหลังจากเดินทางมาถึง และให้กักตัวจนกว่าจะทราบผลว่าเป็นลบ” จอห์นสันกล่าวในการแถลงข่าว
“ใครที่เคยสัมผัสกับผู้ติดเชื้อที่คาดว่าจะเป็นสายพันธุ์โอไมครอน จะต้องกักตัวเป็นเวลา 10 วัน และรัฐบาลจะใช้กฎการสวมหน้ากากให้เข้มงวดยิ่งขึ้น” จอห์นสันกล่าว พร้อมกับเสริมว่า มาตรการเหล่านี้จะมีการทบทวนใน 3 สัปดาห์

เยอรมนีพบ 2 ราย อิตาลีพบ 1 ราย
กระทรวงสาธารณสุขรัฐบาวาเรียของเยอรมนี ประกาศพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอน 2 ราย ซึ่งเดินทางเข้าเยอรมนีผ่านทางสนามบินมิวนิก เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ก่อนที่เยอรมนีจะประกาศว่าแอฟริกาใต้เป็นพื้นที่แพร่ระบาดโควิดสายพันธุ์ใหม่ โดยขณะนี้ทั้งคู่อยู่ระหว่างกักตัว อย่างไรก็ตาม ทางเยอรมนีไม่ได้ระบุรายละเอียดที่ชัดเจนเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากแอฟริกาใต้
ในอิตาลี สถาบันสุขภาพแห่งชาติระบุว่า พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่ 1 ราย ในเมืองมิลาน ซึ่งเป็นผู้ที่เดินทางมาจากโมซัมบิก
เช็ก-เนเธอร์แลนด์ ลุ้น
ด้านเจ้าหน้าที่สาธารณรัฐเช็กเผยว่า กำลังตรวจสอบผู้ต้องสงสัยติดเชื้อสายพันธุ์ดังกล่าว 1 ราย ซึ่งเคยใช้เวลาอยู่ที่นามิเบีย
ส่วนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของเนเธอร์แลนด์เผยว่า โควิดสายพันธุ์โอไมครอนอาจจะปะปนมากับผู้โดยสาร 61 คน ที่มีผลตรวจโควิดเป็นบวก หลังจากที่พวกเขาเดินทางมาใน 2 เที่ยวบินจากแอฟริกาใต้
“คริส วิตตี้” ประธานเจ้าหน้าที่การแพทย์ของอังกฤษ กล่าวในการแถลงข่าวเดียวกับจอห์นสันว่า ยังคงมีความคลุมเครืออยู่มากเกี่ยวกับสายพันธุ์โอไมครอน แต่มีโอกาสอยู่บ้างที่วัคซีนบางชนิดอาจจะใช้ได้ผลกับโควิดสายพันธุ์นี้
“ออคซานา พายซิก” คณะเภสัชกรรม มหาวิทยาลัยคอลเลจ ลอนดอน ให้สัมภาษณ์กับอัลจาซีราว่า นักวิทยาศาสตร์ต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ในการวิเคราะห์ เพื่อระบุอาการรุนแรงที่เกิดจากโอไมครอน
“สายพันธุ์นี้ถูกพบเร็วมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่ข้อเสียคือต้องใช้เวลาสักพักเพื่อทำความเข้าใจ” พายซิกกล่าว
“สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากการระบาดคือ การดำเนินการอย่างรวดเร็วเป็นสิ่งสำคัญ การที่มีสัญญาณเตือน จึงทำให้ประเทศต่าง ๆ มีเวลามากพอในการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด ซึ่งหากย้อนกลับไปเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว หลายประเทศจะไม่มีเวลาเตรียมแบบนี้”
การระงับการเดินทาง
โอไมครอน ซึ่งเป็นเชื้อโควิดกลายพันธุ์ที่อาจทำให้เกิดความเสี่ยงในการติดเชื้อซ้ำ ถูกค้นพบครั้งแรกโดยนักวิทยาศาสตร์ในแอฟริกาใต้ และตั้งแต่นั้นได้มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อในเบลเยียม บอตสวานา อิสราเอล และฮ่องกง
WHO เตือนว่าอาจต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์เพื่อระบุว่าสายพันธุ์นี้ทำให้ไวรัสมีความรุนแรงหรือแพร่เชื้อได้มากขึ้นหรือไม่
และแม้ว่านักระบาดวิทยาจะกล่าวว่า การระงับการเดินทางอาจสายเกินไปที่จะหยุดไม่ให้โอไมครอนระบาดไปทั่วโลก แต่หลายประเทศทั่วโลก ซึ่งรวมถึงสหรัฐอเมริกา บราซิล แคนาดา และกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป ได้ประกาศระงับการเดินทางหรือจำกัดการเดินทางจากแอฟริกาใต้แล้ว ตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมา
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (CDC) และกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้เพิ่มมาตรการจำกัดการเดินทางเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา พร้อมแนะนำไม่ให้เดินทางไปยัง 8 ประเทศในแอฟริกาตอนใต้
วันเดียวกัน ออสเตรเลียระบุว่า จะห้ามไม่ให้ผู้ที่ไม่ใช่พลเมือง ที่เดินทางไปยัง 9 ประเทศแอฟริกาตอนใต้ เดินทางเข้าประเทศ และจะกักตัวชาวออสเตรเลียที่เดินทางมาจากประเทศเหล่านี้ เป็นเวลา 14 วัน
ขณะที่อังกฤษจะเพิ่มรายชื่อประเทศในบัญชีแดง เพื่อระงับการเดินทางไปยังแอฟริกาตอนใต้ ส่วนเกาหลีใต้ ศรีลังกา ไทย โอมาน คูเวต และฮังการี ได้ประกาศระงับการเดินทางสำหรับประเทศในแอฟริกาตอนใต้แล้ว
ในแอฟริกาใต้ มีความกังวลว่าการจำกัดการเดินทางจะสร้างความเสียหายต่อภาคการท่องเที่ยวและภาคอื่น ๆ ของเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดใหญ่อยู่แล้ว ทำให้เจ้าหน้าที่และนักวิทยาศาสตร์พากันวิจารณ์มาตรการของประเทศต่าง ๆ ว่า “ไม่ยุติธรรม”
แหล่งที่มาของข่าว