นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปี 65 ต้องจับตาความเสี่ยง 4 เรื่องที่มีโอกาสทำให้สะดุด ทั้งเรื่องการระบาดโควิด โอมิครอน หรือสายพันธุ์ใหม่ , เรื่องเงินเฟ้อ , เรื่องหนี้ และเรื่องสถานการณ์โลก โดยเรื่องแรกโควิดโอมิครอนที่คาดว่าจะมาเร็วและไปเร็ว จบได้ภายในครึ่งปีแรกปี 65 แต่ถ้าโอมิครอนยืดเยื้อกระทบครึ่งหลัง หรืออาจมีการกลายพันธุ์ จะทำให้การฟื้นตัวท่องเที่ยวยากขึ้น ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยสะดุดได้ในครึ่งปีหลังในช่วงที่กำลังจะฟื้นตัว ทำให้ ธปท.เตรียมมาตรการ เครื่องมือรองรับสถานการณ์ไว้แล้ว โดยเน้นให้สถาบันการเงินสามารถทำงานได้ใกล้เคียงปกติที่สุด เพื่อช่วยเหลือประชาชน ลูกหนี้ ทั้งในช่วงที่ผ่านมาและอนาคต
ทั้งนี้ เห็นได้จากโควิดในช่วงที่ผ่านมา สินเชื่อสถาบันการเงินยังเติบโตได้ดี 4-5% ต่างจากวิกฤติเศรษฐกิจในอดีตเช่นปี 40 ที่เศรษฐกิจไทยชะลอและสินเชื่อก็ชะลอตามไปด้วย ซึ่งสินเชื่อของไทยยังเติบโตได้มากกว่าประเทศเพื่อนบ้านแม้โควิดในไทยจะรุนแรงกว่าก็ตาม โดยสินเชื่อที่สามารถรองรับวิกฤติได้ในปี 65 คือ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูที่ยังเหลือวงเงินอีกกว่า 1 แสนล้านบาท จาก ณ วันที่ 4 ม.ค.65 ปล่อยสินเชื่อแล้ว 1.41 แสนล้าน ได้รับความช่วยเหลือ 43,826 ราย และมีโครงการพักทรัพย์พักหนี้ 33,906 ล้านบาท จำนวน 252 ราย
นอกจากนี้ยังมีมาตรการ 3 กันยา ซึ่งเป็นการดูแลภาระหนี้เดิม แก้ไขแบบระยะยาวยั่งยืน เน้นการปรับโครงสร้างหนี้มากกว่าการพักหนี้เป็นแค่ระยะสั้น และไม่ตอบโจทย์กับสถานการณ์ รวมทั้งการพักหนี้อาจฟังดูดีแต่จะสร้างภาระให้ลูกหนี้เพราะระหว่างพักหนี้นั้น ดอกเบี้ยยังคิดอยู่ และมีมาตรการสนับสนุนรวมหนี้ เพื่อลดภาระหนี้ เป็นการรวมสินเชื่อไม่มีหลักประกันมาไว้ที่สินเชื่อบ้าน ขณะนี้สถาบันการเงินเกือบทุกแห่งมีผลิตภัณฑ์(โปรดักส์ โปรแกรม)ออกมาแล้ว หลังจากนี้จะต้องเข้าไปติดตามให้เกิดผล
เรื่องที่ 2 เงินเฟ้อสูง และค่าครองชีพขึ้น แต่รายได้คนไม่ขึ้น โดยเงินเฟ้อของไทยที่เพิ่มขึ้นแตกต่างจากประเทศอื่น เพราะของไทยจะทยอยเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดการณ์ปี 65 อยู่ที่ 1.7% และปี 66 อยู่ที่ 1.4% อยู่ในกรอบเป้าหมาย 1-3% สะท้อนว่าเสถียรภาพราคายังดีอยู่ ส่วนที่สินค้าราคาขึ้นไม่ได้ขึ้นแบบวงกว้าง เช่น ราคาพลังงาน ราคาหมู เป็นต้น แต่ก็ต้องติดตามใกล้ชิดว่าจะยาวนานแค่ไหน
ขณะที่เรื่องที่ 3 เป็นเรื่องหนี้ด้อยคุณภาพ หรือเอ็นพีแอลที่ต้องบริหารจัดการ โดยยอมรับหลังจากนี้จะเห็นเอ็นพีแอลทยอยเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้เพิ่มแบบพุ่งรวดเดียว จึงต้องจัดการเพื่อไม่ให้เกิดการสะดุด ซึ่วช่วงปลายเดือนม.ค.นี้ธปท.จะออกมาตรการสนับสนุนการร่วมลงทุนจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์(เอเอ็มซี)ระหว่างธนาคารพาณิชย์กับเอเอ็มซี เพื่อมาบริหารจัดการ ดูแลปัญหาหนี้เอ็นพีแอล ไม่ให้ลูกหนี้รู้สึกว่าถูกทอดทิ้งและทำให้ม๊โอกาสฟื้นกลับมาได้ด้วย
ส่วนเรื่องสุดท้ายคือสถานการณ์โลก โดยเฉพาะการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางต่างๆ เช่น ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด แต่เชื่อว่าผลกระทบในไทยมีค่อนข้างน้อย เพราะไทยมีหนี้ต่างประเทศน้อย ฐานะการเงินเข้มแข็ง เงินสำรองระหว่างประเทศมาก และความผันผวนตลาดเงินไทยก็มีน้อย ส่วนใหญ่เอกชน 90% จะใช้เงินระดมทุนจากสินเชื่อสถาบันการเงินในประเทศ มีแค่ส่วนน้อย 10% ที่ถือพันธบัตร แต่เป็นเอกชนรายใหญ่ซึ่งมีโอกาสสะดุดน้อย
“ยังมีโจทย์ท้าทายระบบการเงินไทยทั้งเรื่องดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียว หรือกรีนอิโคโนมี โดยวันที่ 2ก.พ.นี้ ธปท.จะมีออกแนวภูมิทัศน์ระบบการเงินไทย(ไฟแนนเชี่ยล แลนด์สเค็ป) และเปิดรับฟังความเห็น 1 เดือนในเรื่องนี้ เบื้องต้นจะสนับสนุนให้สถาบันการเงินมีความยืดหยุ่นรองรับปรับตัวกระแสใหม่ๆ รวมทั้งทบทวนกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคต่อสถาบันการเงินในการปรับตัว”
แหล่งที่มาของข่าว