พิษสงครามการค้าโลก ฉุดส่งออก’ยางแท่ง’ชะลอ การตอบโต้ทางการค้า ระหว่างสหรัฐกับจีนและประเทศอื่นๆ มีความชัดเจนและรุนแรงมากขึ้น โดยประเทศคู่พิพาทได้ปรับเพิ่มภาษีนำเข้าระหว่างกันแล้ว บางส่วน แม้ธุรกิจส่วนใหญ่ยังคงต้องติดตามและรอประเมินผลกระทบอย่างต่อเนื่อง แต่มีผู้ประกอบการในไทยบางธุรกิจ เริ่มเห็นผลกระทบต่อคำสั่งซื้อแล้ว
รายงานแนวโน้มธุรกิจของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งสำรวจ ความคิดเห็นของภาคธุรกิจและหน่วยงานต่างๆ ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2561 ระบุว่า กลุ่มผู้ผลิตยางเริ่มได้รับผลกระทบจาก คำสั่งซื้อสินค้า เนื่องจากผู้ประกอบการ ยางล้อในจีนเกิดความกังวลจากสถานการณ์สงครามการค้าและได้ชะลอคำสั่งซื้อ ยางแท่งและยางแผ่นรมควันจากไทย
เช่นเดียวกับ ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ประเภทแผงวงจรไฟฟ้าในภาคเหนือบางราย ที่ได้รับคำสั่งซื้อลดลงเพราะลูกค้าเริ่ม ปรับลดสต็อกสินค้า
อย่างไรก็ตาม กลุ่มผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ประเภทอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ในภาคอีสานบางส่วนได้รับผลดีผ่านคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น จึงได้เริ่มลงทุน ก่อสร้างอาคารและซื้อเครื่องจักรใหม่ เพื่อรองรับคำสั่งซื้อดังกล่าว
นอกจากนี้ ราคาวัตถุดิบในหมวด โลหะบางประเภทเริ่มปรับลดลงบ้าง เช่น ลวดทองแดง ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้ประกอบการที่จำเป็นต้องใช้วัตถุดิบดังกล่าวในการผลิต
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการ ในธุรกิจอื่นส่วนใหญ่ ยังไม่เห็นผลกระทบชัดเจน แต่ได้คาดการณ์ผลกระทบทางบวกและทางลบไว้เบื้องต้น โดยธุรกิจส่งออก ผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์มองว่าอาจได้รับผลดีจากการส่งออกไปยังสหรัฐได้มากขึ้น
ส่วนธุรกิจแปรรูปเกษตรมองว่า สินค้าเกษตรบางประเภทอาจได้รับผลดี จากการส่งออกไปจีนได้เพิ่มขึ้นเช่นกัน เช่น มันสำปะหลังที่จีนจะนำเข้าไปทำเป็นอาหารสัตว์ทดแทนการนำเข้าข้าวโพด จากสหรัฐ
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเคมีพื้นฐาน มองว่า ธุรกิจ อาจได้รับผลทางลบจากสินค้าจีนที่อาจทะลักเข้ามาสู่ตลาดในประเทศได้ ซึ่งจะส่งผลต่อการตั้งราคาและกำไรของผู้ประกอบการ
สำหรับการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ไปจีนอาจได้รับผลทางลบผ่านห่วงโซ่ การผลิตเพื่อไปขายต่อยังสหรัฐ
ขณะที่ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร บางประเภท เช่น หมู อาจถูกสหรัฐ ทุ่มตลาดได้เช่นกัน หากไทยถูกกดดันให้ยอมรับ สารเร่งเนื้อแดง เพราะสหรัฐสามารถผลิตหมู ได้ด้วยต้นทุนที่ถูกกว่าไทย
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการหลายราย ประเมินผลเสียทางอ้อมด้านอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับด้านการผลิต เช่น ความผันผวนของตลาดเงินตลาดทุน เป็นสำคัญ
ส่วนภาคการท่องเที่ยว รายงาน แนวโน้มธุรกิจ ระบุว่า หลังเกิดเหตุการณ์เรือรับนักท่องเที่ยวจีนล่ม ที่จังหวัดภูเก็ตเมื่อวันที่ 5 ก.ค.2561 ที่ผ่านมาส่งผลให้นักท่องเที่ยวชาวจีนเสียชีวิตถึง 47 รายและเกิดกระแสด้านลบต่อประเทศไทยอย่างมากในโซเชียลมีเดียหลักของจีน คือ Baidu และ Weibo
ในระยะแรกหลังเกิดเหตุการณ์พบว่า นักท่องเที่ยวจีน แบบกรุ๊ปทัวร์โดยเฉพาะ ในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอันดามันได้ ยกเลิก การจองและเปลี่ยนเส้นทางไปยังประเทศใกล้เคียงเป็นจำนวนมากส่งผลให้ หลายโรงแรมต้องปรับลดราคาลงเพื่อดึงดูดลูกค้า
อย่างไรก็ดี ยังมีกลุ่มทัวร์บางส่วน ได้เลือกเปลี่ยนจุดหมายปลายทางไปเที่ยว ในภูมิภาคอื่นๆ ของไทยแทน อาทิ กรุงเทพฯ เชียงใหม่รวมทั้งพื้นที่ติดทะเล ที่ไม่เป็นเกาะ ส่งผลให้ในภาพรวมมี นักท่องเที่ยวกลุ่มทัวร์ยกเลิกการจองไปประมาณ 30% ของยอดจองทั่วประเทศ ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวจีนกลุ่ม FIT บางส่วนได้ยกเลิกการท่องเที่ยวในไทย เช่นกัน
ทั้งนี้ ยอดจองล่วงหน้าในช่วงวันหยุดยาววันชาติจีน (Golden week) ส่งสัญญาณว่านักท่องเที่ยวกลุ่มFIT ทยอยฟื้นตัว
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการส่วนมากเห็นว่าเหตุการณ์ดังกล่าว รวมถึงปัจจัยลบ อื่นๆ ที่เกิดขึ้นในภายหลังได้ซ้ำเติม ภาพลักษณ์ด้านลบเกี่ยวกับความปลอดภัยของการท่องเที่ยวไทย จึงคาดว่าตัวเลข นักท่องเที่ยวจีนในไตรมาสที่ 4 โดยเฉพาะในกลุ่มทัวร์จะลดลงต่อเนื่อง
โดยพบว่าส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวจีน ได้ปรับเปลี่ยนจุดหมายปลายทางในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวปลายปี (High season) ไปยังประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือ ประเทศอื่นที่มีจุดขายด้านการท่องเที่ยวทางทะเล อาทิ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย แทน สอดคล้องกับที่ผู้ประกอบการ บางสายการบินเห็นลูกค้า กลุ่มทัวร์จีนลดลง จึงมีแผนพิจารณาลด Schedule flight ในอนาคต ซึ่งจะส่งผลต่อความสะดวก ในการเดินทางและทำให้กลุ่ม FIT มีโอกาสลดลงด้วย
ทั้งนี้ ในช่วง High season ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมโดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งอันดามัน คาดว่าผลกระทบจากการลดลงของนักท่องเที่ยวจีนต่อธุรกิจจะยังไม่มากจนถึงกับต้องลดขนาดหรือปิดกิจการ เพราะยังมีตลาดนักท่องเที่ยวชาติอื่นมาทดแทนได้ เช่น ยุโรป
อย่างไรก็ดีผู้ประกอบการเห็นว่า ในระยะยาวนักท่องเที่ยวชาติอื่นไม่สามารถ ทดแทนตลาดนักท่องเที่ยวจีนได้ทั้งหมด ดังนั้น การยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อสร้างความมั่นใจ ให้กับนักท่องเที่ยวจีนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ ภาครัฐและภาคเอกชนต้องเร่งดำเนินการ ต่อไป
Source: กรุงเทพธุรกิจ