เลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ : พรรคเดโมแครตจะคุมเสียงข้างมากในสภาล่าง ส่อเค้าลางยุ่งยากให้กับทรัมป์ – พรรคเดโมแครตได้รับการคาดหมายว่าจะสามารถยึดเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ได้ ขณะที่พรรครีพับลิกันยังจะครองเสียงข้างมากในวุฒิสภาต่อไป หลังจากการนับคะแนนดำเนินไปจนเกือบจะสิ้นสุดแล้ว
นักวิเคราะห์การเมืองสหรัฐฯ พากันเห็นว่าการที่เดโมแครตคุมเสียงข้างมากในสภาล่างเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปีอาจก่อปัญหาให้กับรัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยนโยบายของเขาอาจจะเผชิญกับการท้าทายมากขึ้น
ขณะที่ “พิงก์ เวฟ” หรือผู้สมัครรับเลือกตั้งหญิง เป็นกระแสที่มาแรงในการเลือกตั้งกลางสมัยในครั้งนี้ เพราะนอกจากนี้จะมีจำนวนผู้ลงชิงตำแหน่งต่าง ๆ ที่เป็นผู้หญิงมากขึ้นแล้ว ก็ยังมีแนวโน้มว่าจะได้รับเลือกตั้งเขามามากขึ้นด้วย จนทำให้มีการพูดกันว่าปีนี้เป็น “ปีของผู้หญิง”
ขณะนี้ผลการนับคะแนนยังไม่เสร็จสิ้น โดยสื่อหลายสำนัก รวมถึงซีบีเอส นิวส์ ซึ่งเป็นพันธมิตรของบีบีซี ได้รายงานผลการนับคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. เบื้องต้น ณ เวลา 11.30 น. พบว่า ใน 303 จากทั้งหมด 435 ที่นั่งที่ช่วงชิงกัน พรรครีพับลิกันได้ 153 ที่นั่ง และพรรคเดโมแครตได้ที่นั่ง 150 ที่นั่ง โดยพรรคเดโมแครตได้ที่นั่งเพิ่มมาในหลายรัฐ อาทิ เวอร์จิเนีย และเซาท์ ฟลอริดา
รายงานของบีบีซี พบว่า พรรครีพับลิกันได้ ส.ว. ไปแล้ว 50 ที่นั่ง หรือคิดเป็นกึ่งหนึ่งของสภาสูง ส่วนพรรคเดโมแครตมี 42 ที่นั่ง สำหรับผลการนับคะแนนในรัฐสำคัญ ๆ ที่มีการต่อสู้กันอย่างหนักระหว่างสองพรรค มีดังนี้
อินดีแอนา : พรรครีพับลิกันสามารถรักษาเก้าอี้เอาไว้ได้
เทนเนสซี : รีพับลิกันสามารถรักษาเก้าอี้เอาไว้ได้
เวสต์เวอร์จิเนีย : พรรคเดโมแครตพลิกมาชนะ ทั้งที่ในการเลือกตั้ง 2016 ทรัมป์กำชัยชนะถล่มทลายในรัฐนี้
การเลือกตั้งกลางสมัยสหรัฐฯ ถือเป็นสนามทดสอบคะแนนนิยมในการบริหารประเทศของนายทรัมป์ หลายคนมองว่านี่คือ “การลงประชามติ” ต่อผลงานของเขาในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
ศึกครั้งนี้เป็นการชิงเก้าอี้ ส.ส. 435 ที่นั่ง, ส.ว 35 จากทั้งหมด 100 ที่นั่ง และผู้ว่าการรัฐ 36 จากทั้งหมด 50 ตำแหน่ง ซึ่งเดิมพรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากในสภาคองเกรส โดยมี ส.ส. 235 ที่นั่ง และ ส.ว. 51 ที่นั่ง
“พิงก์เวฟ” หรือ “คลื่นสีชมพู” คือปรากฎการณ์ใหม่ในการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ ครั้งนี้
สื่อในสหรัฐฯ รายงานว่า มีผู้หญิงได้รับการเสนอชื่อต่อพรรคทั้งรีพับลิกันและเดโมแครต เพื่อคัดเลือกเป็นผู้สมัครของพรรคชิงตำแหน่ง ส.ส. อย่างเป็นทางการถึง 476 ราย ทำลายสถิติเดิมในปี 1992 ที่มีผู้สมัครหญิง 298 ราย
ส่วนจำนวนที่ได้รับอนุมัติจากพรรคให้ลงชิงชัยเก้าอี้ ส.ส. ในปีนี้เท่ากับ 235 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนของพรรคเดโมแครต
ขณะที่จำนวนผู้หญิงที่ได้รับการเสนอชื่อจากพรรคเข้าชิงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐก็มีถึง 11 คน เทียบกับจำนวน 10 คนที่ได้รับการเสนอชื่อเมื่อปี 26 ปีก่อน
นักวิเคราะห์การเมืองสหรัฐฯ กล่าวว่า ผลการเลือกตั้งของปี 2016 รวมทั้งความกังวลในนโยบายบางอย่างที่เอื้อต่อสตรีที่มีขึ้นในยุคของนายบารัค โอบามา กำลังถูกเปลี่ยนแปลงในสมัยของนายทรัมป์ เป็นตัวกระตุ้นให้ผู้หญิงเข้ามาลงสมัครรับเลือกตั้งกันมากขึ้น
หญิงผู้เปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในการเมืองอเมริกา
ศึกเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ ครั้งนี้ มีว่าที่นักการเมืองหน้าใหม่ที่เป็นผู้หญิงได้เข้าไปในสภาคองเกรสหลายคน ดังนี้
– หญิงมุสลิมคนแรกในรัฐสภา : ราชิดา ทลาอิบ ถูกคาดหมายว่าจะได้เป็น ส.ส. จากรัฐมิชิแกน หลังมีผลนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการออกมา โดยเธอสามารถเอาชนะเพื่อนร่วมพรรคเดโมแครต ซึ่งเป็นอดีต ส.ส. เจ้าของพื้นที่เดิมอย่าง เบรนดา โจนส์ ได้ในการเลือกตั้งขั้นต้น (ไพรมารี) จึงได้เป็นตัวแทนของพรรคเดโมแครตลงชิงเก้าอี้ ส.ส. ในรัฐมิชิแกน
– หญิงชาวอเมริกันพื้นเมืองคนแรกในรัฐสภา : แชริซ เดวิดส์ วัย 38 ปี เป็นว่าที่นักการเมืองหน้าใหม่สังกัดพรรคเดโมแครต ซึ่งคาดว่าจะได้เป็น ส.ส. แคนซัส เขต 3 หลังมีผลนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการออกมา โดยเธอสามารถโค่น เควิน โยเดอร์ อดีต ส.ส. สังกัดพรรครีพับลิกัน เจ้าของเก้าอี้เดิมลงได้
– หญิงผิวสีคนแรกในอิลลินอยส์ : ลอเรน อันเดอร์วูด จากพรรคเดโมแครต น่าจะได้เป็น ส.ส. ในรัฐอิลลินอยส์ เขต 14 หลังผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการพบว่าเธอนำห่าง แรนดี ฮัลท์เกรน จากพรรครีพับลิกัน ทั้งนี้ อันเดอร์วูดเป็นนางพยาบาล และมีบทบาทเป็นที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุขของรัฐบาลโอบามาด้วย
นอกจากว่าที่นักการเมืองหญิงหน้าใหม่ทั้ง 3 คน อิลฮาน โอมาร์ ยังมีโอกาสสูงที่จะรักษาเก้าอี้ ส.ส. รัฐมินเนโซตา เอาไว้ได้ หลังผลการนับคะแนนเบื้องต้นพบว่าเธอมีคะแนนนำเจนนิเฟอร์ ซิลินสกี ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกัน อย่างถล่มทลาย โดยเธอถือเป็นพลเมืองเชื้อสายโซมาลี-อเมริกัน คนแรกที่ได้เข้าไปทำหน้าที่ในสภาล่างเมื่อปี 2016
Source: BBC Thai