ทางการจีนเปิดเผยข้อมูลที่บ่งชี้ถึงความเสี่ยงที่จีนจะเผชิญกับภาวะเงินฝืด และคาดว่าความเสี่ยงดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนเป็นวงกว้าง โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ปรับตัวลง 0.3% ในเดือนก.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการปรับตัวลงครั้งแรกในรอบ 2 ปี หรือนับตั้งแต่เดือนก.พ. 2564
ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดต้นทุนสินค้าที่หน้าประตูโรงงาน ลดลง 4.4% ในเดือนก.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งปรับตัวลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าอาจลดลง 4.1%
หลุยส์ ลู่ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดคาดการณ์ว่า ดัชนี CPI ของจีนอาจจะขยายตัวเพียง 0.5% ในปีนี้ และคาดว่าดัชนี PPI อาจลดลง 3.5%
“อุปสงค์ที่อ่อนแอของจีนตลอดช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ อาจเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลจีนออกมาตรการกระตุ้นอุปสงค์แค่ในวงจำกัด รวมทั้งเป็นผลจากการใช้กฎระเบียบที่เข้มงวด และการทรุดตัวอย่างต่อเนื่องของตลาดที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ดี เรามองว่าการที่รัฐบาลจีนเลือกที่จะผ่อนคลายกฎระเบียบแบบเจาะจงเป้าหมาย แทนการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่นั้น ถือเป็นพัฒนาการในเชิงบวก” หลุยส์ ลู่กล่าว
ขณะที่บรูซ ผาง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ฝ่ายจีนแผ่นดินใหญ่และจีนโพ้นทะเล (Greater China) ของบริษัท JLL คาดการณ์ว่า ดัชนี CPI ของจีนจะยังคงปรับตัวลงในช่วงหลายเดือนข้างหน้าเนื่องจากราคาเนื้อหมูปรับตัวลง และคาดดัชนี PPI มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวขึ้นก่อนที่ดัชนี CPI จะฟื้นตัว เมื่อพิจารณาเป็นรายปี
ทั้งนี้ แม้ว่าการปรับตัวลงของดัชนี CPI จะทำให้ตลาดวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินฝืดในจีน แต่นายหลิว กั๋วเฉียง รองผู้ว่าการธนาคารกลางจีนยังคงแสดงความเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจจีนจะไม่เผชิญความเสี่ยงเงินฝืดในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ พร้อมกับกล่าวว่า การที่เศรษฐกิจจีนจะกลับสู่ภาวะปกติภายหลังยุคโควิดนั้น อาจจะต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง
รัฐบาลจีนได้กำหนดเป้าหมายดัชนี CPI ในปีนี้ไว้ที่ระดับ 3% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับ 2% ที่เคยทำไว้ในปี 2565
แหล่งที่มาของข่าว…