‘ไอเอ็มเอฟ’เตือนศก.โลกชะลอหั่นคาดการณ์จีดีพีปีหน้า: สัญญาณเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ในปีหน้าเริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เมื่อ ไอเอ็มเอฟ ออกรายงานเตือนทั่วโลกเตรียมพร้อมรับมือภาวะการชะลอตัว ของเศรษฐกิจโลกทั้งปีนี้และปีหน้า พร้อมปรับลดตัวเลขคาดการณ์จีดีพีประเทศเศรษฐกิจชั้นนำโลกลงถ้วนหน้า ติดตามรายละเอียดได้จากรายงาน
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เผยแพร่รายงานล่าสุด ว่าด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจระดับภูมิภาคสำหรัตะวันออกกลางและเอเชียกลาง เมื่อวันอังคาร (13 พ.ย.) ระบุว่า การเติบโตของเศรษฐกิจโลกกำลังชะลอตัวลงและทุกประเทศทั่วโลกจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับภาวะการชะลอตัวที่กำลังเกิดขึ้น เพราะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำของโลกอาจจะก่อผลกระทบที่เลวร้ายและก่อความเสี่ยงอย่างมากต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวม
รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกฉบับล่าสุดของไอเอ็มเอฟ ยังคงคาดการณ์ว่า การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในช่วงปี 2561-2562 ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงและอยู่ในระดับเดียวกับปี 2560 แต่การเติบโตของเศรษฐกิจจีนจะลดความร้อนแรงลงในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ขณะที่เศรษฐกิจในภูมิภาคตะวันออกกลางยังคงขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง
ไอเอ็มเอฟ เตือนว่า ภาวะการชะลอตัว ทางเศรษฐกิจของชาติเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่จำนวนหนึ่ง อาจจะทำให้ความเชื่อมั่นของ บรรดานักลงทุนสั่นคลอนและท้ายที่สุด จะทำให้ตลาดทุน ตลาดหุ้นทั่วโลกโดยรวม ตกต่ำ
“แม้ขณะนี้เศรษฐกิจโลกยังมีแรง ขับเคลื่อน แต่สภาวะทางการเงินของ หลายประเทศทั่วโลกเริ่มตึงตัว และขณะนี้เริ่มมีสัญญาณบ่งชี้ว่า ภาวะทางเศรษฐกิจของทั่วโลกเริ่มเปลี่ยนแปลงไป และมี ความเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น แม้ว่าเราจะเห็นว่าเศรษฐกิจเติบโตดี แต่อัตราการเติบโตเริ่มแผ่วลง” จิฮัด อาเซอร์ ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคตะวันออกกลาง และเอเชียกลางของไอเอ็มเอฟ ให้ความเห็น
รายงานของไอเอ็มเอฟฉบับนี้ ระบุว่า อัตราดอกเบี้ยขาขึ้นของสหรัฐ การแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์และความผันผวนของตลาดเงินที่อาจจะสร้างแรงกดดันให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศเกิดใหม่บางประเทศ
“พัฒนาการที่เลวร้ายลงของปัจจัยเสี่ยงตามที่ระบุไว้ข้างต้นและการดำเนิน นโยบายการเงินการคลังแบบคุมเข้มเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ของประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้า เพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เศรษฐกิจโลกเกิดภาวะชะลอตัว”รายงานล่าสุดของไอเอ็มเอฟ ระบุ
ไอเอ็มเอฟ คาดการณ์ว่า การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2561-2562 ยังคงทรงตัวอยู่ระดับเดียวกับปี 2560 คือขยายตัวที่อัตรา 3.7% แต่แนวโน้มการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของชาติเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ จำนวนหนึ่งเริ่มชะลอตัวลง เริ่มจากสหรัฐ แนวโน้มการเติบโตของจีดีพีที่แท้จริงสำหรับปี 2561 ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง คือ อยู่ที่ 2.9%
แต่คาดการณ์ว่าในปี 2562 การเติบโตของจีดีพีจะปรับตัวลง 2.5% เพราะการประกาศ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนในช่วงที่ผ่านมา ที่จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีใครบอกได้ว่า ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสองประเทศยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจจะจบลงเมื่อใด
ขณะที่ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขา ฟิลาเดเฟีย เปิดเผยผลสำรวจบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มจะปรับตัวลงเล็กน้อย ขณะที่ตัวเลขคาดการณ์อัตราว่างงานและอัตราเงินเฟ้อค่อนข้างทรงตัว โดยผลสำรวจรายไตรมาส คาดการณ์ค่าเฉลี่ยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริง ในไตรมาส 4 อยู่ที่ 2.6% ลดลง 0.2% จากระดับคาดการณ์เมื่อไตรมาสที่ผ่านมา แต่ผลสำรวจชี้ว่า อัตราว่างงานอยู่ที่ 3.7% ในไตรมาสนี้และไตรมาสหน้า พร้อมคาดการณ์ว่า อัตราว่างงานในไตรมาส 2, 3 และ 4 ของปี 2562 จะอยู่ที่ 3.6% ผลสำรวจนี้ มาจากการสำรวจความคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์จำนวน 37 คน
เฟดสาขาฟิลาเดเฟีย ระบุว่า สำหรับอัตราเงินเฟ้อนั้น ดัชนีราคาผู้บริโภค (ซีพีไอ) และดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (พีซีอี) ในช่วง 2 ปีข้างหน้า จะยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก โดยตัวเลขซีพีไอพื้นฐานอยู่ที่ 2.3%-2.4% ในปี 2562 ขณะที่ตัวเลขพีซีอี อยู่ที่ 2.1%-2.2%
“แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาและประเทศเกิดใหม่เริ่มอ่อนแอลง เห็นได้จากการที่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่บางประเทศเริ่มปรับลดตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของจีดีพีเพราะปัจจัยต่างๆ การคุมเข้มทางการเงิน ความตึงเครียดด้านภูมิศาสตร์การเมือง และการที่ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น “รายงานของไอเอ็มเอฟ ระบุ
ไอเอ็มเอฟ ระบุว่า การเติบโตของจีดีพีที่แท้จริงของสหภาพยุโรป (อียู) จะชะลอตัวลง ในปี 2562 ส่วนปี2561 อัตราการเติบโตของจีดีพีที่แท้จริงอยู่ที่ 2.9% ส่วนจีน เพราะ ผลพวงจากการทำสงครามการค้ากับ สหรัฐ ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจ ของจีนในปี 2561 อยู่ที่ 6.6% ส่วนในปีหน้า ไอเอ็มเอฟคาดว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวที่อัตรา 1.9%
ขณะที่ รัฐบาลญี่ปุ่น เปิดเผยว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 3 หดตัวลง 1.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ ซึ่งจีดีพี ไตรมาส 3 ของญี่ปุ่นหดตัวลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลล์สำนักข่าวเกียวโด คาดการณ์ว่าจะหดตัว 1.1%
การบริโภคภาคเอกชน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่าครึ่งของเศรษฐกิจญี่ปุ่น ปรับตัวลง 0.1% เนื่องจากการใช้จ่ายในภาคโรงแรม การรับประทานอาหารนอกบ้าน และการคมนาคม ทางอากาศลดลง นอกจากนี้ ราคาพืชผักที่ปรับตัวสูงขึ้นยังทำให้ประชาชนต้องรัดเข็มขัดกันมากขึ้นอีกด้วย
ส่วนยอดส่งออกปรับตัวลง 1.8% ถือเป็น การลดลงครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส เนื่องจากอุปสงค์รถยนต์และผลิตภัณฑ์กลุ่มเทคโนโลยีจากต่างชาติลดลง ส่วนยอดการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวขาเข้าก็ลดลงตามไปด้วย เนื่องจากญี่ปุ่นเผชิญกับภัยธรรมชาติหลายครั้งในช่วงเวลาดังกล่าว
รายงานล่าสุดของไอเอ็มเอฟ สอดคล้องกับตัวเลขการเติบโตของจีดีพีฟิลิปปินส์ในช่วงไตรมาส3 ที่ชะลอตัวลงอยู่ที่ 6.1% จาก 6.6% ในช่วงเดือนม.ค.-มี.ค.ขณะที่การ อ่อนค่าลงของค่าเงินเปโซฟิลิปปินส์ทำให้สินค้านำเข้ามีราคาแพงขึ้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่ออำนาจการจับจ่ายของประชาชนชาวฟิลิปปินส์ที่มีรายได้ต่ำ
ส่วนอินโดนีเซีย อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศปรับตัวร่วงลงไปอยู่ที่ 5.2% จาก 5.3% และธนาคารกลางทั้งของอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ต่างคุมเข้มนโยบายการเงินการคลังเพื่อรับมือกับกระแส เงินทุนไหลออกที่เป็นผลพวงจากการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยขาขึ้นของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ