บทสุดท้าย Brexit จะเป็นอย่างไร เรียกว่ามาแรงขึ้นๆแบบกำลังเข้าสู่จุดไคล์แมกซ์ สำหรับ Brexit บทความนี้ จะขอตอบคำถามถึงการสิ้นสุดและผลกระทบจาก Brexit
โดยบทสุดท้ายในรูปแบบต่างๆของ Brexit ว่าจะดำเนินต่อไปในปีหน้าจนจบกระบวนการอย่างไรบ้าง ดังนี้
หนึ่ง ‘ไม่มีข้อตกลง Brexit ใดๆเกิดขึ้น’หรือNo Dealที่เรียกกันว่า Loss of the passport เกิดการแบ่งแยกเป็น 2 ฝ่าย ได้แก่ ตลาด EU 27 ประเทศ กับอีกฝั่งที่มีอังกฤษและอาจจะรวมถึงสวิสเซอร์แลนด์
ประเด็นอยู่ที่ไอร์แลนด์เหนือ ว่ากฎเกณฑ์ต่างๆ ที่อังกฤษเจรจากับอียู จะใช้กับอังกฤษและไอร์แลนด์เหนือหรือไม่ โดยหากยังไม่สามารถตกลงกันได้ภายในสิ้นปีนี้ จะทำให้ต้องเกิดการตั้งด่านเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม และการตรวจตราเอกสารต่างๆ ทั้งสินค้าและบริการตรงเขตแดนระหว่างอังกฤษและไอร์แลนด์ รวมถึงเขตแดนกับยูโร ที่เรียกว่า Irish Backstop จะทำให้กระบวนการ Brexit ต้องชะงักงัน ในมิติทางการเมือง จะเกิดการถกเถียงกันในกลุ่ม Brexiteer และ Remainer
ส่วนด้านผลกระทบเชิงธุรกิจ จะทำให้เกิดแผนฉุกเฉินเพื่อรองรับช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ เนื่องจากอังกฤษไม่สามารถเซ็นดีลการค้าต่างๆเนื่องจากภายใต้ Irish Backstop กำแพงภาษีจะถูกตั้งโดย EU มีการประเมินว่าจีดีพีอังกฤษ จะลดลงร้อยละ 3 ในระยะยาว ภายใต้รูปแบบนี้
สอง ‘Hard Brexit หลังจากเปลี่ยนผ่าน’ หากการเจรจาระหว่างอังกฤษและยุโรป ไม่สามารถตกลงกันได้โดยเฉพาะประเด็นการให้สินค้าและบริการเพียงบางส่วนตามที่อังกฤษต้องการเป็นส่วนที่สามารถค้าขายโดยเสรี (Cherry-Picking) จะเกิดข้อตกลงที่คล้ายกับยุโรปทำกับแคนาดาที่เรียกกันว่า Canada
Comprehensive Economic and Trade Agreement (CETA) ซึ่งเป็นข้อตกลงที่สามารถค้าขายระหว่างกันเพียงบางส่วน ซึ่งอังกฤษน่าจะถือว่าออกจากยูโรแบบชัดเจนในกรณีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของบริการทางการเงิน ประเมินกันว่าจีดีพีอังกฤษ จะลดลงร้อยละ 5 ในระยะยาว ภายใต้รูปแบบ CETA
สาม ‘เกิด Customs Union หลังช่วงเปลี่ยนผ่าน 2 ปี’ มาร์ค คาร์นีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ เมื่อ 2 วันก่อนออกโรงเชียร์รูปแบบนี้ กรณีนี้ น่าจะถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ Remain Camp ต้องการ โดยอังกฤษจะค่อยๆ เจรจาตกลงถอนตัวออกจากยุโรป ภายหลัง เส้นตายเดิม มี.ค. 2019 จากนั้น อังกฤษจะเซ็นสัญญาข้อตกลงการค้าเสรีและ Customs Union กับยุโรปภายในปี 2022 โดยยังสามารถค้าขายได้กับไอร์แลนด์เหนืออย่างเสรีเหมือนเดิม ในมิติทางการเมือง กลุ่ม Brexiteer ยังบ่นว่าทำให้อังกฤษไม่สามารถตกลงและเซ็นสัญญาการค้ากับต่างประเทศเนื่องจากยังอยู่ใน Customs Union ส่วนธุรกิจในส่วนของบริการด้านการเงินถือว่าเสียเปรียบกว่าเซกเตอร์อื่น
โดยกรุงลอนดอนที่เคยได้ประโยชน์จากภูมิรัฐศาตร์และการเชื่อมโยงตลาดการเงินต่างๆด้วยระบบสื่อสารแบบเคเบิล ให้เป็นศูนย์กลางทางการเงินของยุโรป ดังรูป จะถูกปารีส อัมสเตอร์ดัม และมิลาน แย่งส่วนแบ่งตลาดจาก Brexit ที่เกิดข้อติดขัดในสัญญาระหว่างอังกฤษกับยุโรป
สี่ ‘ให้เกิดการคิดภาษีกับยูโรเฉพาะสินค้าและบริการบางกลุ่ม’หรือ Chequer’s Plan ดีลในรูปแบบนี้คือสิ่งที่นางเทเรซ่า เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษเคยต้องการเมื่อกลางปีนี้ ทว่านักการเมืองฝั่ง Brexiteer บ่นว่าเป็นแค่ Brexit เพียงแต่ชื่อ โดยชาวอังกฤษและยุโรปยังสามารถเดินทางระหว่างอังกฤษและยุโรปได้อย่างเสรีและรัฐบาลยังมีการแบ่งปันงบประมาณกับยูโรเหมือนเดิม โดยธุรกิจในส่วนของบริการด้านการเงินถือว่าเสียเปรียบกว่าเซกเตอร์อุตสาหกรรมและเกษตร ซึ่งร่างดังกล่าวถูกปิดประตูจากการลาออกของรัฐมนตรีหลายท่านในรัฐบาลของนางเมย์
ท้ายสุด ‘European Economic Agreement’ (EEA) โดยดีลแบบนี้คล้ายกับที่นอรเวย์ทำกับยูโรในปัจจุบัน ซึ่งถือว่ายังสามารถค้าขายกับยูโรได้อย่างค่อนข้างเสรีและเกือบทุกฝ่ายพึงพอใจยกเว้นกลุ่ม Brexiteer ที่ชาตินิยม โดยนักวิชาการส่วนใหญ่จะชื่อชอบทางเลือกนี้ เนื่องจากยังสามารถค้าขายกับประเทศในยุโรปได้อย่างค่อนข้างเสรี ประเมินกันว่าจีดีพีอังกฤษ จะลดลงร้อยละ 2 ในระยะยาว ภายใต้รูปแบบ Norway-Style ซึ่งรูปแบบนี้ มีนักการเมืองหลายท่านเริ่มโน้มเอียงมาทางนี้มากขึ้น
โดยจนถึงวันนี้ ผมก็ยังมองว่า Second Referendum ของ Brexit ยังมีความเป็นไปได้ต่ำมากๆ จนไม่ใช่เป็นหนึ่งในทางเลือกที่ผมให้ไว้ข้างต้น
หากถามว่าผลกระทบของการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษจะมีผลต่อจีดีพีของอังกฤษอย่างไร
เมื่อพูดถึงประมาณการของจีดีพีที่ลดลงจากการเกิด Brexit คงต้องมองไปที่หน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือของประเทศได้แก่กระทรวงการคลังของอังกฤษ ว่าประมาณการผลกระทบของ Brexit ไว้เท่าไหร่ ตัวเลขที่กระทรวงการคลังอังกฤษได้คำนวณไว้คือจีดีพีลดลง 7.8% ในระยะยาว โดยคำนวณจากปริมาณการค้ากับต่างประเทศที่จะลดลงเมื่ออังกฤษเกิด Brexit ขึ้นมา
จากนั้น ผลกระทบที่เกิดจากปริมาณการค้าที่ลดลง จะส่งผลต่อระดับผลิตภาพของปัจจัยการผลิตของประเทศ จนกระทั่งนำเข้าไปวิเคราะห์กับแบบจำลองแบบดุลยภาพ จนได้อัตราการเจริญเติบโตของจีดีพีที่ลดลงของอังกฤษปรากฏว่าจีดีพีเติบโตลดลง7.8% ในระยะยาว สำหรับในระยะสั้นนั้น ทางLondon School of Economicsได้คำนวณไว้ว่าจะลดลงราว 1.3-2.6% ใน 1-2 ปีแรก
หากจะอ้างอิงงานศึกษาที่น่าเชื่อถือที่สุดล่าสุดในตอนนี้ คงต้องรอจากธนาคารกลางอังกฤษที่จะเปิดเผยผลการศึกษาว่าด้วยผลกระทบของ Brexit ต่อเศรษฐกิจอังกฤษในสัปดาห์หน้าครับ
โดย ดร.บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ
คอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ “มุมคิดมหภาค”
Source: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์