นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ใกล้ที่จะบรรลุเป้าหมายในการผลักดันร่างข้อตกลงว่าด้วยการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ให้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาอังกฤษ หลังจากที่ทางรัฐสภาได้ทำการลงมติต่อร่างแก้ไข Brexit ที่นำเสนอโดยสมาชิกรัฐสภาเมื่อวานนี้ตามเวลาท้องถิ่น
ทั้งนี้ รัฐสภาอังกฤษได้ทำการลงมติต่อร่างแก้ไขข้อตกลง Brexit ที่มีการเสนอมาจากสมาชิกรัฐสภาเมื่อวานนี้ เพื่อบ่งชี้แนวทาง Brexit ที่รัฐสภาต้องการ หลังจากที่ได้ลงมติอย่างถล่มทลายคว่ำร่างข้อตกลง Brexit ที่นางเทเรซา เมย์ ทำไว้กับผู้นำสหภาพยุโรป (EU) ก่อนหน้านี้
การลงมติของสมาชิกรัฐสภาในครั้งนี้ ไม่ใช่เป็นการลงมติต่อร่างข้อตกลง Brexit ฉบับใหม่ของนางเมย์ แต่เป็นร่างแก้ไขข้อตกลง Brexit ของนางเมย์ที่มีการเสนอมาจากสมาชิกรัฐสภา ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 7 ฉบับ
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า สมาชิกรัฐสภาได้โหวตรับร่างแก้ไขข้อตกลง Brexit ที่มีการเสนอจากเซอร์เกรแฮม เบรดี ซึ่งได้รับเสียงสนับสนุนด้วยคะแนนเสียง 317-301 โดยร่างแก้ไขดังกล่าวเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาในนโยบาย Backstop ซึ่งเป็นนโยบายเกี่ยวกับระบบศุลกากรระหว่างไอร์แลนด์เหนือกับสาธารณรัฐไอร์แลนด์
เสียงสนับสนุนที่มากกว่าเสียงคัดค้าน 16 เสียงนี้ จะทำให้นางเมย์ต้องกลับไปที่บรัสเซลส์เพื่อโน้มน้าวให้ฝั่งสหภาพยุโรปทราบว่า ข้อตกลง Brexit จะได้รับการรับรองในรัฐสภาอังกฤษ หากมีการเปลี่ยนเนื้อหาในนโยบาย Backstop
เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐสภาอังกฤษได้ลงมติด้วยคะแนนเสียง 432 ต่อ 202 เสียง ปฏิเสธร่างข้อตกลง Brexit ของนางเมย์ ส่งผลให้ต้องมีการเสนอร่างแก้ไขข้อตกลงดังกล่าว
ส่วนในการลงมติของสมาชิกรัฐสภาเมื่อวานนี้ นางเมย์ กล่าวว่า “เสียงส่วนใหญ่ได้ชี้ให้เห็นแล้วว่า พวกเขาจะสนับสนุนข้อตกลงที่มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาในนโยบาย Backstop บัดนี้ชัดเจนแล้วว่า เรามีหนทางในการคว้าเสียงข้างมากอย่างมั่นคงและยั่งยืน เพื่อถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปโดยมีข้อตกลงรองรับ”
นางเมย์ เปิดเผยว่า รัฐบาลอังกฤษหวังที่จะเปลี่ยนแปลงเนื้อหาเกี่ยวกับนโยบาย Backstop ให้มีผลผูกพันตามกฎหมายในข้อตกลง Brexit
นโยบาย Backstop คือนโยบายระบบศุลกากรร่วมระหว่างไอร์แลนด์เหนือซึ่งเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร กับสาธารณรัฐไอร์แลนด์ซึ่งเป็นรัฐสมาชิกของสหภาพยุโรป ครอบคลุมสินค้าเกือบทุกชนิด ยกเว้นสินค้าประมง ซึ่งหมายถึงการมอบอำนาจในการกำหนดอัตราภาษีขาเข้าให้กับสหภาพยุโรปหลังแยกตัวไปแล้ว นโยบายดังกล่าวมีขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิด Hard Border หรือพรมแดนที่มีการตั้งด่านตรวจคนเข้าเมืองและด่านตรวจศุลกากร ทว่าไม่เป็นที่นิยมในหมู่นักการเมืองอังกฤษที่สนับสนุน Brexit เพราะกังวลว่าจะเป็นการผูกมัดสหราชอาณาจักรเข้ากับระเบียบของสหภาพยุโรป
อย่างไรก็ดี จนถึงวันนี้ ทางฝั่งสหภาพยุโรปยังคงยืนยันว่านโยบายดังกล่าวจะต้องไม่เปลี่ยนแปลง
อ่านต่อได้ที่ : https://www.ryt9.com/s/iq37/2947213