แนวโน้มหนี้ครัวเรือนพุ่งสศช.เตือนเฝ้าระวัง : สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ออกมาชี้แจงกรณีหนี้สินครัวเรือนที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น หลังจากที่รายงานภาวะสังคมไตรมาส 3 ปี 2561 ไปเมื่อวันที่ 29 พ.ย.2561
นางชุตินาฏ วงศ์สุบรรณ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกล่าวว่า ไตรมาส 2 ปี 2561 ข้อมูลล่าสุด ของหนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 12.34 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5.7% เทียบ กับปี 2559 อยู่ที่ 3.8% และปี 2560 อยู่ที่ 4.6% ส่วนหนึ่งเนื่องจากเศรษฐกิจที่ปรับตัว ดีขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับที่ต่ำ และความต้องการซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ที่เร่งตัวขึ้นตั้งแต่กลางปี 2560 เป็นต้นมา หลังจากเริ่มสิ้นสุดเงื่อนไขการถือครอง รถยนต์อย่างน้อย 5 ปี ก่อนการโอนเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ตามนโยบายคืนภาษีรถยนต์คันแรก ซึ่งสิ้นสุดเงื่อนไข วันที่ 31 ธ.ค.2560
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาสัดส่วนหนี้สิน ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) พบว่า มีแนวโน้มลดลงอย่างช้าๆ จากสัดส่วนที่สูงสุดในปี 2558 ในอัตรา 80.8% ลดลงเป็น 79.3% ในปี 2559 และมาอยู่ที่ 78.05% ในปี 2560 และล่าสุดปี 2561 มาอยู่ที่ 77.5%
สำหรับวัตถุประสงค์ของการก่อหนี้ เกินกว่าครึ่งหนึ่งเป็นการกู้เพื่อซื้อสินทรัพย์ถาวร จากข้อมูลสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ ที่ให้กับครัวเรือนล่าสุด ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2561 สัดส่วนประมาณ 73.0% ของ สินเชื่อที่ธนาคารพาณิชย์ให้กับครัวเรือน รวม เป็นการกู้ยืมเพื่อซื้อที่ดิน ที่อยู่อาศัย รถยนต์ รถจักรยานยนต์ และการซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อการอื่น ดังนั้นจึงเป็น การก่อหนี้ที่ทำให้เกิดการสะสมสินทรัพย์เพิ่มขึ้นไปพร้อมกัน (สัดส่วนการให้ สินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์เท่ากับ 51.5% และสัดส่วนการให้สินเชื่อ เพื่อซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เท่ากับ 23.8%) โดยสินเชื่อที่ให้กับการซื้อที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์ 6.4% และรถยนต์ และรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้น 12.5% สำหรับสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลอื่นๆ เพิ่มขึ้น 8.7% แม้ภาระหนี้เพิ่มขึ้น แต่ ความสามารถในการชำระหนี้ยังไม่น่ากังวล ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 หนี้เพื่อการอุปโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพิ่มขึ้น 7.8% ชะลอลงจาก 10.3% สัดส่วนหนี้เพื่อการอุปโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อ รวมอยู่ที่ 2.73% และ NPL อยู่ที่ 26.80 ซึ่งใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้านี้ ส่วนการผิดนัดชำระหนี้สินเชื่อ เกิน 3 เดือน ของบัตรเครดิตลดลง 0.2% และของสินเชื่อภายใต้การกำกับ เพิ่มขึ้น 9.7%
สำหรับปัญหาหนี้สินครัวเรือน ยังเป็นประเด็นที่ต้องเฝ้าระวัง โดย ปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวัง คือ มูลค่าหนี้สิน ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้ม เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หากมีปัจจัยภายนอกมา กระทบอาจส่งผลต่อความสามารถใน การชำระหนี้ของครัวเรือนได้ โดยเฉพาะ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยซึ่งสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ทรงตัวอยู่ในระดับสูง
รวมทั้งกรณีสินเชื่อซื้อ เช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อเพื่อการบริโภคบุคคลอื่นๆ ที่ค่อยๆ เร่งตัวขึ้นตามมาตรการส่งเสริมการขายที่จูงใจผู้บริโภคและอาจทำให้เกิดการก่อหนี้เพิ่ม
รวมทั้งประชาชนมีโอกาสในการเข้าถึง บริการทางการเงินได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการเงิน (Fin-tech) ที่ทำให้มีความสะดวกในการทำธุรกรรมทางการเงินมากขึ้น ซึ่งหาก ขาดความตระหนักในการมีวินัยทางการเงิน รวมถึงความรู้ความเข้าใจในการ บริหารจัดการด้านการเงิน อาจนำไปสู่พฤติกรรมการใช้จ่ายที่เกินความสามารถในการหารายได้
ส่วนความสามารถในการชำระหนี้สินในช่วงที่ผ่านมารัฐบาล ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือน ทั้งในระบบและนอกระบบอย่างต่อเนื่อง โดยมีมาตรการสำคัญ เช่น โครงการคลินิกแก้หนี้ โดยความร่วมมือระหว่างสมาคมธนาคารไทยและสมาคมธนาคารนานาชาติภายใต้การสนับสนุนจากธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นการดำเนิน “โครงการแก้ไขปัญหาหนี้ส่วนบุคคลสำหรับผู้ที่ ไม่มีหลักประกัน” เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินกับธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ได้ รวมทั้งบริหารจัดการชำระหนี้ของ ตนเองได้อย่างเหมาะสมตามความสามารถที่แท้จริงควบคู่กับการเสริมสร้างวินัยทางการเงินที่ดี
รวมทั้งการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ โดยมีการดำเนินการตามแนวทาง ของกระทรวงการคลัง 5 มิติ ได้แก่
1.ดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่ผิดกฎหมาย
2.การเพิ่มช่องทางการเข้าถึง สินเชื่อในระบบให้กับลูกหนี้นอกระบบ และประชาชนทั่วไป ได้แก่ การอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ “สินเชื่อรายย่อย ระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์)” และการจัดตั้ง “หน่วยแก้หนี้นอกระบบ” (Business Unit) ภายในธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
3.ลดภาระหนี้นอกระบบโดยการ ไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ โดยจัดให้มี “จุดให้คำปรึกษาปัญหาหนี้นอกระบบ” ณ สาขา ธ.ออมสิน และธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ
4.เพิ่มศักยภาพของลูกหนี้นอกระบบที่ไม่มีศักยภาพในการหารายได้ หรือมีความสามารถในการชำระหนี้ต่ำ โดยการสนับสนุนด้านการฟื้นฟูอาชีพ
5.สนับสนุนการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรการเงินชุมชนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สร้าง เครือข่ายองค์กรการเงินชุมชน
นอกจากนี้ มีมาตรการช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากร ทางการศึกษา โดยกระทรวงศึกษาธิการ และธนาคารออมสินได้ร่วมกันออกมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา และมาตรการลดภาระหนี้เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้เกษตรกรรายย่อย ได้แก่
1.โครงการขยายเวลาชำระหนี้ ให้เกษตรกรรายย่อย ที่เป็นลูกค้าของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่ 1 ส.ค.2561-31 ก.ค.2562
2.โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรรายย่อย เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ 1 ส.ค.2561-31 ก.ค.2562 และการจัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติเพื่อส่งเสริมการออมทรัพย์ ของสมาชิกและเพื่อเป็นหลักประกันการจ่ายบำนาญและให้ประโยชน์ตอบแทน แก่สมาชิกเมื่อสิ้นสมาชิกภาพ
Source: กรงุเทพธุรกิจ