สุขภาพศก.’สหรัฐ-จีน’ หลังสงครามการค้าส่อยืดเยื้อ ท่ามกลางกระแสข่าวที่ว่า จีน ได้ส่งหนังสือตอบกลับข้อเรียกร้องของสหรัฐก่อนหน้านี้ ที่ต้องการให้จีน ปฏิรูปนโยบายการค้า ซึ่งเป็นการดำเนินการที่จะช่วยให้สหรัฐและจีน เปิดฉากการเจรจาการค้าครั้งใหม่ และยุติการทำสงครามการค้าระหว่างกันได้ จนทำให้ดัชนีดาวโจนส์ ปิดตลาดวันพฤหัสบดี (15พ.ย.)ตามเวลาสหรัฐ ปรับตัวขึ้น ท่ามกลางการคาดหวังของนักลงทุนในตลาดว่าสหรัฐและจีนจะผ่าทางตันกรณีพิพาททางการค้าระหว่างกันได้ ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ปรับตัวขึ้น 208.77 จุดหรือ 0.83% ปิดที่ 25,289.27 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 เพิ่มขึ้น28.62 จุดหรือ 1.06% ปิดที่ 2,730.2 จุดและดัชนีแนสแด็ก บวก 122.64 จุดหรือ 1.72% ปิดที่ 7,259.03 จุด แหล่งข่าวไม่ได้เปิดเผย รายละเอียดเกี่ยวกับเนื้อหาของหนังสือตอบกลับจากจีนฉบับดังกล่าว และยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า คำตอบของจีนจะสร้างความพึงพอใจต่อรัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์หรือไม่ แต่ล่าสุด นายวิลเบอร์ รอสส์ รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐ เปิดเผยว่า รัฐบาลสหรัฐ ยังคงมีแผนที่จะปรับเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนในเดือนม.ค. พร้อมกับแสดงความเห็นว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน อาจทำได้แค่เห็นพ้องร่วมกันในกรอบการดำเนินงานด้านการค้า เมื่อผู้นำทั้งสองประชุมสุดยอดร่วมกัน ในช่วงปลายเดือนนี้
นายรอสส์ กล่าวด้วยว่า สหรัฐยังคงมีแผนที่จะปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนในอัตรา 25% ในวันที่ 1 ม.ค.ปีหน้า คิดเป็นวงเงินรวม 2 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งการออกมายืนยันเรื่องนี้ของนายรอสส์ มีขึ้นหลังจากหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทม์ส รายงานข่าวว่า นายโรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐ (ยูเอสทีอาร์) ได้กล่าวต่อบรรดา ผู้บริหารในแวดวงอุตสาหกรรมของสหรัฐว่า รัฐบาลสหรัฐตัดสินใจชะลอการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีน เอาไว้ชั่วคราว แต่โฆษกของ นายไลท์ไฮเซอร์ ออกมาปฏิเสธรายงานข่าวนี้ในเวลาต่อมา
มีการคาดการณ์กันว่า ปธน.ทรัมป์ และปธน.สี ของจีนจะพบปะกันนอกรอบการประชุมจี20 ที่ กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา ในวันที่ 30 พ.ย.-1 ธ.ค. เพื่อเจรจาแก้ไขความขัดแย้งทางการค้า ระหว่างกัน ซึ่งสหรัฐ ระบุก่อนหน้านี้ว่า การเจรจาการค้าจะไม่เกิดขึ้น จนกว่าจีนจะยื่นข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมในการปฏิรูปนโยบายการค้าเสียก่อน
จากข้อมูลทั้งหมดที่กล่าวมา มีความเป็นไปได้สูงที่ การทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนยังคงดำเนินต่อไป คำถามที่ตามาคือ แล้วเศรษฐกิจของทั้ง2ประเทศยังคงแข็งแกร่งพอที่จะรับมือการทำสงครามการค้าระหว่างกันหรือไม่ เริ่มจากสหรัฐ ล่าสุด สำนักงานวิจัยทางการเงิน (โอเอฟอาร์) สังกัดกระทรวงการคลังสหรัฐ เปิดเผยว่า เสถียรภาพทางการเงินโดยรวมของสหรัฐ ยังคงมีความเสี่ยงในระดับ ปานกลางในปีนี้ ขณะที่ความเสี่ยงในตลาดยังอยู่ในระดับสูง
โอเอฟอาร์ ระบุในรายงานประจำปี ที่ยื่นต่อสภาคองเกรสของสหรัฐว่า จากการรวบรวมดัชนีชี้วัด 6 กลุ่ม ที่เฝ้าติดตามการความเสี่ยงทางการเงินของประเทศพบว่า ภัยคุกคามต่อเสถียรภาพทางการเงิน ของสหรัฐยังคงอยู่ในระดับปานกลาง โดยตัวชี้วัดความเสี่ยงในระบบเศรษฐกิจมหภาค ประกอบด้วย ปัจจัยชี้วัดอัตราเงินเฟ้อ ความเสี่ยงทางการเงิน และความสมดุลภายนอกของสหรัฐพบว่า ยังมีความเสี่ยง ในระดับปานกลาง แต่เพิ่มสูงขึ้น จากมุมมองภาพรวมของเมื่อปีที่แล้ว
ส่วนความเสี่ยงต่างๆ ในตลาด ซึ่งวัดจากการประเมินมูลค่า หลักทรัพย์ ความผันผวนของตลาดหุ้น อัตราส่วนราคาบ้านต่อรายได้ และปัจจัยชี้วัดอื่นๆอีก 6 ปัจจัย พบว่า ยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่ง “เคน ฟีลัน” รักษาการผู้อำนวยการโอเอฟอาร์ กล่าวว่า ตลาดยังมีความเสี่ยงอยู่ในระดับสูง เห็นได้จากการที่ราคาหุ้นพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์และความผันผวนของราคาพันธบัตร ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย
นอกจากนี้ โอเอฟอาร์ ยังระบุด้วยว่า สหรัฐ มีความเสี่ยงด้านสินเชื่ออยู่ในระดับปานกลาง รวมทั้งความเสี่ยงจากสถานะการกู้ยืมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจริงในภาคครัวเรือนและธุรกิจนอกภาคการเงินของประเทศ
ขณะที่กระทรวงพาณิชย์จีน เปิดเปิดเผยว่า ยอดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะได้แรงหนุนจากความแข็งแกร่งของการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตและเทคโนโลยีขั้นสูง โดยยอดเอฟดีไอ ช่วงเดือน ม.ค.-ต.ค.ปรับตัวขึ้น 3.3% เมื่อเทียบรายปี แตะที่ระดับ 7.0116 แสนล้านหยวน หรือประมาณ 1.077 แสนล้านดอลลาร์
กระทรวงพาณิชย์จีน ระบุด้วยว่า จำนวนบริษัทน้องใหม่ที่มีการลงทุนโดยต่างชาติในช่วง 10 เดือนแรกปีนี้ พุ่งขึ้น 89.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี แตะที่ระดับ 49,545 แห่ง และหากพิจารณาเป็นราย ภาคอุตสาหกรรมพบว่า เม็ดเงิน เอฟดีไอ ในอุตสาหกรรมการผลิตอยู่ที่ระดับ 2.20 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้น 12.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี ขณะที่เม็ดเงิน
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ