ดูจะไม่ใช่งานง่ายสำหรับการจัดพอร์ตการลงทุนในปีใหม่ 2562 นี้ โดยบทความนี้จะเป็นการสแกนดูภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกในปี 2562 ซึ่งพบว่าเข้าสู่ช่วงวัฏจักรที่การเติบโตของเศรษฐกิจเริ่มจะน้อยลง (Slowdown) และมีความเสี่ยงที่อาจเข้าสู่ภาวะถดถอยในปี (Recession) ในปี 2563 จากนั้นเราจะไปดูกันต่อว่าในสถานการณ์แบบนี้สินทรัพย์ใดที่เหมาะจะมีไว้ในพอร์ตลงทุนกัน
ปี 2561 ที่ผ่านมาเริ่มต้นด้วยมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ที่มองว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวได้ดีและมากกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว แต่ปี 2562 กลับเป็นตรงข้ามเมื่อการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้ว (Developed Market) มีแนวโน้มเติบโตลดลง ขณะที่ Emerging Market บางประเทศมีแนวโน้มเศรษฐกิจถดถอยซึ่งเป็นผลกระทบสืบเนื่องจากวิกฤตค่าเงินตลาดเกิดใหม่ในปี 2561 ที่ผ่านมา
ในปี 2562 นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตปานกลาง ขณะที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2561 และเศรษฐกิจถดถอย (recession) เป็นความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในปี 2563
Powell Nirvana จะเป็นจริงได้หรือไม่ ?
นายเจอโรม พาวเวลล์ได้ออกมาให้ความเห็นว่าสหรัฐฯ น่าจะยังอยู่ในแนวโน้มเศรษฐกิจเติบโตต่อไปได้อีก และกลไกเศรษฐกิจปัจจุบันนั้นง่ายต่อการรักษาระดับอัตราการว่างงานในระดับต่ำ ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงคือ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้ขยายตัวต่อเนื่องมา 114 เดือนแล้วซึ่งจากประวัติศาสตร์ในอดีตที่ผ่านมาเศรษฐกิจสหรัฐฯ เคยขยายตัวต่อเนื่องไม่เกิน 120 เดือนและต้องเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยตามรอบวัฏจักรเศรษฐกิจ
สแกนดูแนวโน้มเศรษฐกิจหลัก ๆ ทั่วโลก
เริ่มกันที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ปี 2562 นับว่าเติบโตในเกณฑ์ใช้ได้โดยนักเศรษฐศาสตร์มองเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเติบโต 2.4% ซึ่งถือว่าไม่เลวเลยทีเดียว
ขณะที่เศรษฐกิจจีนดูจะหลีกเลี่ยงคำว่า slowdown ไม่พ้นในปี 2562 ซึ่งหมายถึงการเติบโตในอัตราที่น้อยลง แน่นอนว่าส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบที่เกิดจาก Trade War และอีกส่วนหนึ่งมาจากการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศจีนเองจากที่เปลี่ยนจากการเน้นการผลิตและการลงทุนมาเป็นเศรษฐกิจที่เติบโตด้วยกำลังซื้อในการบริโภคของคนจีนเอง
เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีความท้าทายในปี 2562 เนื่องจากจะมีการขึ้นภาษี VAT ทำให้การกระตุ้นด้วยนโยบายการเงินการคลังดูจะเป็นสิ่งที่รัฐบาลภายใต้การนำของชินโสะ อาเบะต้องทำต่อไปหากต้องการให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นโตขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 7
เศรษฐกิจอินเดียได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันที่ตกลง ซึ่งทำให้การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดลดลง รวมถึงทำให้เงินเฟ้อของประเทศลดลงด้วย ขณะที่การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจภายใต้การนำขอบนาย Modi ดูจะเห็นผลในเชิงบวกมากขึ้นเรื่อย ๆ
เศรษฐกิจยุโรปยังคงเติบโต แต่เติบโตในระดับต่ำต่อเนื่องในปี 2562 โดยความท้าทายคือระดับเงินเฟ้อที่ปรับขึ้นมาถึงเป้าหมาย 2% ทำให้การกระตุ้นทางการเงินด้วยนโยบาย QE จำเป็นต้องหยุดลงนับตั้งแต่ปี 2019 และอาจเริ่มเห็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยทีละเล็กน้อยจากระดับใกล้เคียง 0% ในปัจจุบัน
เศรษฐกิจเยอรมันอยู่ในจุดที่ต้องจับตามอง หลังจาก GDP ได้หดตัวลงในไตรมาส 3/61 ที่ผ่านมา ซึ่งหลัก ๆ มาจากภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะการผลิตรถยนต์ ขณะที่เศรษฐกิจอิตาลียังมีแนวโน้มอ่อนแออย่างต่อเนื่อง และการประลองกำลังระหว่างรัฐบาลประชานิยมที่ต้องการกระตุ้นด้วยนโยบายการคลังแบบขาดดุล กับ European commission ที่ต้องการให้ดำเนินนโยบายอย่างรัดกุมจะยังมีอยู่ต่อไป และเป็นปัจจัยเสี่ยงอีกตัวหนึ่ง ทั้งนี้ Bloomberg Economics คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจอิตาลีในไตรมาส 4/61 ต่อเนื่องจนถึงไตรมาส 1/62 จะมีการหดตัว
ในส่วนของสหราชอาณาจักร ทาง Bloomberg Economics มีมุมมองเชิงบวกมองว่า Brexit จะเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขทางเศรษฐกิจบางประการ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตต่อได้ในปี 2562
ในส่วนของประเทศไทย ในที่สุดธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในช่วงปลายปี 2561 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามมีความเป็นไปได้สูงที่แบงค์ชาติจะคงดอกเบี้ยไว้ที่ 1.75% อีกระยะเพื่อดูพัฒนาการทางเศรษฐกิจ ซึ่งล่าสุดแบงค์ชาติบ้านเราเองก็ได้หั่นการคาดการณ์เศรษฐกิจของปี 2562 จาก 4.2% เหลือ 4.0% ขณะที่มองเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 1.0%
สินทรัพย์ที่ทำผลตอบแทนได้ดีในช่วงปลายวัฏจักรเศรษฐกิจ
จากการศึกษาผลตอบแทนของแต่ละชนิดสินทรัพย์ในแต่ละวัฏจักรเศรษฐกิจในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา ของ Credit Suisse ในช่วงเศรษฐกิจร้อนแรงกว่าการเติบโตโดยเฉลี่ยระยะยาว (Overheating) เป็นช่วงที่หุ้นทำผลตอบแทนได้ดี ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมไปถึงค่าเงินดอลลาร์ที่มีแนวโน้มแข็งค่า ซึ่งเฟสนี้น่าจะชัดเจนว่าได้ผ่านไปแล้ว
ขณะที่ในวันนี้เราอยู่ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกเริ่มโตช้า (Slowdown) หุ้นกลุ่ม Defensive และตราสารหนี้ภาคเอกชนประเภท Investment Grade จะทำผลตอบแทนได้ดี ขณะที่ดอลลาร์จะเริ่มเข้าสู่ช่วงอ่อนค่า และผมมองว่าเรา “อาจจะ” อยู่ในรอยต่อระหว่างช่วง “โตช้า” กับช่วงเศรษฐกิจหดตัว (Contraction) ซึ่งจะเป็นช่วงที่ทองคำทำหน้าที่เป็น Safe Haven ทำผลตอบแทนได้ดี เช่นเดียวกับ High Yield Bond ที่ Spread เพิ่มขึ้นไปพอสมควรแล้ว และมีระดับ Yield สูงถึง 7 – 8% ในปัจจุบัน
โดยสรุปคือปี 2562 เป็นปีที่ควรเน้นเกมรับ รักษาเงินลงทุน และคอยติดตามว่าในวัฏจักรเศรษฐกิจรอบนี้เราจะหลีกเลี่ยงช่วงเศรษฐกิจถดถอยได้หรือไม่
ซึ่งถ้าชัดเจนว่าเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะสหรัฐฯ ยังพยุงตัวเองให้เติบโตต่อไปได้โดยไม่เจอภาวะ “ถดถอย” อย่างที่ผู้ว่าเฟดให้ความเห็นไว้จึงจะเป็นจังหวะในการกลับมาเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นอีกครั้ง ซึ่งต้องยอมรับว่าระดับ Valuation ของหุ้นโลกเริ่มกลับมาที่ Fair Value แล้วหลังจากปรับฐานแรงในปี 2561 แต่ ณ เวลานี้ ผู้เขียนมองว่า การกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์ทางเลือกในสัดส่วนที่สูงกว่าปกติจึงเป็นสิ่งที่ควรทำในสถานการณ์ปัจจุบัน และแน่นอนว่าผม และทีมลงทุนของฟินโนมีนาจะติดตามตลาดและให้คำแนะนำการลงทุนอย่างต่อเนื่องเช่นเคยครับ