กนง. จับตาพัฒนาการอัตราเงินเฟ้อ จากความเสี่ยงราคาพลังงานโลกสูงนานกว่าคาด
ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 7/2564 วันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 ธนาคารแห่งประเทศไทย เผยแพร่ ณ วันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 กรรมการที่เข้าร่วมประชุม นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ (ประธาน) นายเมธี สุภาพงษ์ (รองประธาน) นางสาววชิรา อารมย์ดี นายคณิศ แสงสุพรรณ นายรพี สุจริตกุล นายสมชัย จิตสุชน นายสุภัค ศิวะรักษ์
ภาวะเศรษฐกิจโลกและภาวะตลาดการเงิน
แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกชะลอลง โดยกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลัก (advanced economies: AEs) ขยายตัวชะลอลงหลังจากที่เร่งไปมาก เนื่องจากบางประเทศกลับมายกระดับมาตรการ ควบคุมการระบาดหลังจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้นภายใต้นโยบายอยู่ร่วมกับโควิด ขณะที่กลุ่มประเทศ เอเชียฟื้นตัวดีขึ้นหลังการกระจายวัคซีนคืบหน้ามากขึ้นและเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดได้
ทั้งนี้ ในระยะต่อไปเศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงจากราคาพลังงานโลกที่สูงขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว โดยเฉพาะราคาก๊าซธรรมชาติและถ่านหินที่สูงขึ้นมาก ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบสูงขึ้นตาม โดยคาดว่าราคา พลังงานโลกจะทยอยลดลงหลังอุปสงค์ในฤดูหนาวทั่วโลกสิ้นสุดลง และอุปทานน้ำมันจากกลุ่มโอเปกและ พันธมิตร (OPEC Plus) รวมถึงสหรัฐฯ ที่จะเพิ่มขึ้นในปี 2565นอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงจาก ข้อจำกัดด้านอุปทานโลก (global supply disruption) ที่อาจยืดเยื้อ เช่น การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และ เซมิคอนดักเตอร์
ตลาดการเงินโลกมีความผันผวนสูงขึ้นจากนโยบายการเงินของกลุ่มประเทศ AEs ที่ทยอยลดการผ่อนคลาย ตามแนวโน้มเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวชัดเจนขึ้น โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ประกาศทยอยลดปริมาณการเข้าซื้อ สินทรัพย์ ขณะที่ธนาคารกลางบางแห่งในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (emerging markets: EMs) เริ่มลด การผ่อนคลายนโยบายการเงิน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศละตินอเมริกาที่เผชิญปัญหาเงินเฟ้อสูง
ทั้งนี้ แม้อัตรา ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับเพิ่มขึ้นทั่วโลก แต่ราคาสินทรัพย์เสี่ยงของ EMs ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน เนื่องจากสถานการณ์การระบาดที่ปรับดีขึ้นส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัว โดยนักลงทุนเริ่มกลับมาลงทุนทั้งใน ตราสารหนี้และตราสารทุนของ EMs ส่งผลให้ค่าเงินสกุลภูมิภาคปรับแข็งค่าขึ้น สำหรับค่าเงินบาทเคลื่อนไหว ผันผวนสูงกว่าประเทศในภูมิภาคจากปัจจัยภายในประเทศเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการผ่อนคลายมาตรการ ควบคุมการระบาดและแผนการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ
มองไปข้างหน้า ตลาดการเงินโลกยังมี แนวโน้มผันผวน โดยมีความเสี่ยงที่ธนาคารกลางของกลุ่มประเทศ AEs อาจลดการผ่อนคลายนโยบายการเงิน เร็วกว่าคาดหากอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวสูงต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้แนวทางการดำเนินนโยบายการเงินแตกต่างกัน (policy divergence) มากขึ้น เนื่องจากกลุ่มประเทศ EMs หลายประเทศยังคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
ภาวะเศรษฐกิจไทย
เศรษฐกิจไทยในปี 2564 และปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวใกล้เคียงกับที่คาดไว้ในการประชุมเดือนกันยายน จากการใช้จ่ายในประเทศที่ทยอยปรับดีขึ้นต่อเนื่องหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด ขณะที่ สถานการณ์น้ำท่วมในเดือนตุลาคมกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมไม่มากนัก
โดยภาครัฐมีมาตรการช่วยเยียวยา เกษตรกรที่ได้รับความเสียหายบางส่วน ในระยะต่อไป สถานการณ์การระบาดที่ดีขึ้นและแนวโน้มการกระจายวัคซีนได้ตามเป้าหมายของรัฐบาลที่ร้อยละ 70 ณ สิ้นปี จะช่วยให้ความเสี่ยงของเศรษฐกิจปรับลดลงและสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวได้เร็วขึ้น แม้คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะทยอยฟื้นตัวอย่างช้า ๆ เนื่องจากนักท่องเที่ยวเอเชียที่เดินทางระยะใกล้ (short-haul) และเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักยังต้องถูกกักตัว เมื่อกลับจากไทยไปอีกระยะหนึ่ง รวมถึงประเทศจีนยังไม่เปิดให้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางออกนอกประเทศ จึงคาดว่าแนวโน้มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังใกล้เคียงประมาณการเดิมที่ 1.5 แสนคน และ 6 ล้านคน ในปี 2564 และปี 2565 ตามลำดับ สำหรับแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐคาดว่าจะแผ่วลงหลังจากที่ได้ เร่งไปในช่วงก่อนหน้าและตามการลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง ด้านการส่งออกมี แนวโน้มชะลอลงบ้างตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า
ทั้งนี้ ตลาดแรงงานมีแนวโน้มปรับดีขึ้นจากรายได้ของ ผู้ประกอบอาชีพอิสระและลูกจ้างภาคบริการที่ฟื้นตัวตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมถึงเริ่มเห็นการเคลื่อนย้าย แรงงานกลับเข้าสู่จังหวัดที่เป็นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม อาทิ นครราชสีมา ระยอง ฉะเชิงเทรา
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นชั่วคราวตามปัจจัยด้านอุปทาน โดยเฉพาะราคาพลังงานโลกที่คาดว่า จะปรับลดลงในช่วงต้นปีหน้า ทั้งนี้การส่งผ่านต้นทุนจากราคาพลังงานโลกยังมีไม่มาก เนื่องจาก
(1) ราคา พลังงานในประเทศมีกลไกกองทุนน้ำมันช่วยอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลและก๊าซหุงต้ม ประกอบกับมีมาตรการ ตรึงค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า Ft) ทั้งนี้ คาดว่าราคาพลังงานโลกจะปรับลดลงหลังไตรมาสที่ 1 ปี 2565 เนื่องจาก พ้นช่วงฤดูหนาวทั่วโลกและอุปทานน้ำมันจากกลุ่มประเทศผู้ผลิตหลักมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น
(2) ต้นทุน ผู้ประกอบการที่สูงขึ้นตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลก และปัญหา global supply disruption คาดว่าจะส่งผ่าน มายังอัตราเงินเฟ้อไม่มาก เนื่องจากกำลังซื้อยังอยู่ในช่วงฟื้นตัวทำให้ผู้ประกอบการปรับขึ้นราคาสินค้าได้ยาก และแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นไว้เอง โดยสัดส่วนสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากปัญหา global supply disruption มี เพียงร้อยละ 7 ในตะกร้าสินค้าของดัชนีราคาผู้บริโภค
(3) อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเกิดจากการปรับขึ้นราคา สินค้าบางรายการ (relative price changes) เช่น ราคาน้ำมัน โดยยังไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นเป็นวงกว้าง (broadbased) ซึ่งสะท้อนว่าแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ
ทั้งนี้ ในระยะข้างหน้า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะยังอยู่ในกรอบเป้าหมายแต่มีความเสี่ยงด้านสูงหากราคาพลังงานโลกอยู่ในระดับสูงนานกว่าที่ประเมินไว้ และข้อจำกัดด้านอุปทานในต่างประเทศมีแนวโน้มยืดเยื้อ
สำหรับการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อยังคงยึดเหนี่ยว อยู่ในกรอบเป้าหมาย โดยการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะ 1 ปีข้างหน้า ณ เดือนตุลาคม 2564 ของ ผู้ประกอบการอยู่ที่ร้อยละ 1.9 ซึ่งต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อล่าสุดเดือนตุลาคมที่ร้อยละ 2.4 สำหรับการคาดการณ์ อัตราเงินเฟ้อในระยะ 5 – 10 ปีข้างหน้าของผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจอยู่ที่ร้อยละ 1.8 ซึ่งยังยึดเหนี่ยวในกรอบ เป้าหมายระยะปานกลางที่ร้อยละ 1 – 3 การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ายังเปราะบางและไม่แน่นอน โดยต้องติดตาม
(1) พัฒนาการ ของการระบาดหลังการเปิดประเทศ ซึ่งการฟื้นตัวและการจ้างงานในระยะถัดไปจะแตกต่างกันทั้งในมิติของ ธุรกิจและพื้นที่ โดยผลสำรวจผู้ประกอบการในประเทศพบว่าภาคการผลิต ธุรกิจค้าปลีก ร้านอาหาร จะฟื้นตัว ได้เร็วกว่าภาคโรงแรมและการขนส่งผู้โดยสาร
(2) ความต่อเนื่องของมาตรการภาครัฐ หลังจากมาตรการที่ ออกมาในช่วงก่อนหน้าทยอยสิ้นสุดลง
(3) การส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นไปยังราคาสินค้า โดยหากราคา พลังงานโลกอยู่ในระดับสูงนานกว่าที่ประเมินไว้ หรือ global supply disruption ยืดเยื้อกว่าคาด หรือต้นทุน การผลิตหลายประเภทเพิ่มขึ้นพร้อมกัน อาจทำให้ผู้ผลิตปรับขึ้นราคาสินค้าได้
ประเด็นสำคัญที่คณะกรรมการฯ อภิปราย
1. คณะกรรมการฯ เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มสูงขึ้นชั่วคราวตามราคาพลังงานโลก แต่ยังมีความเสี่ยงที่ราคาพลังงานโลกอาจอยู่ในระดับสูงนานกว่าที่ประเมินไว้ จึงเห็นควรให้ติดตามพัฒนาการ ของอัตราเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด กรรมการบางส่วนกังวลว่าราคาพลังงานโลกอาจอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องในระยะยาว หากอุปสงค์พลังงานโลกเพิ่มขึ้นมากตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก หรืออุปทานพลังงานโลก ปรับเพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาด จากการลงทุนแท่นขุดเจาะน้ำมันที่ไม่เพียงพอหรือกระแสการปรับตัวของ ประเทศต่าง ๆ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ทั้งนี้ หากราคาพลังงานโลกอยู่ในระดับสูงนานกว่าที่ ประเมินไว้ จะส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานในประเทศ เนื่องจากกองทุนน้ำมันอาจมีข้อจำกัดในการดูแล กลไกราคา โดยหากราคาพลังงานซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานในการผลิต เช่น น้ำมันดีเซล ก๊าซธรรมชาติ ค่าไฟฟ้า ปรับสูงขึ้น ราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ จะได้รับผลกระทบต่อเนื่อง และการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ ของผู้บริโภคและธุรกิจอาจปรับสูงขึ้นได้ คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้ติดตามแนวโน้มราคาพลังงานโลก รวมถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด
2.คณะกรรมการฯ เห็นว่าโจทย์สำคัญของเศรษฐกิจ คือ การดูแลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่สะดุดลง เนื่องจากเศรษฐกิจในระยะข้างหน้ามีความเสี่ยงจากหลายปัจจัย เช่น
(1) การระบาดระลอกใหม่ที่อาจ กลับมาหลังการเปิดประเทศ โดยเฉพาะความต้องการแรงงานต่างด้าวที่เพิ่มขึ้นอาจดึงดูดให้แรงงานต่าง ด้าวเข้ามาอย่างไม่ถูกกฎหมาย
(2) ความต่อเนื่องของมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ
(3) การส่งผ่าน ต้นทุนที่สูงขึ้นจากราคาพลังงานโลก หากราคาก๊าซธรรมชาติและน้ำมันอยู่ในระดับสูงนานกว่าที่ประเมินไว้ ซึ่งจะบั่นทอนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยคณะกรรมการจะติดตามและประเมินปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ต่อ เศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด
3. คณะกรรมการฯ ประเมินว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าจะมีความแตกต่างกันในแต่ละ ภาคเศรษฐกิจ (uneven recovery) ส่งผลให้ตลาดแรงงานที่แม้จะเริ่มปรับดีขึ้นบ้างยังคงมีความเปราะบาง สะท้อนจากจำนวนผู้ขอรับสิทธิว่างงานใหม่ในระบบประกันสังคมที่ยังอยู่ในระดับสูง และประมาณการ จำนวนผู้เสมือนว่างงานและผู้ว่างงานรวมกัน ณ สิ้นปี 2564 ที่คาดว่าจะมีถึง 3.4 ล้านคน ดังนั้น มาตรการ ช่วยเหลือบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจและตลาดแรงงานควรตรงจุดมากขึ้น และเน้นการปรับโครงสร้าง เศรษฐกิจให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป เพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาวหลังการ ระบาดสิ้นสุดลง (scarring effects)
4. คณะกรรมการฯ เห็นว่า ที่ผ่านมามาตรการการคลังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจทั้ง การเยียวยาและพยุงเศรษฐกิจ แม้แรงส่งจะลดลงบ้างหลังมาตรการการคลังทยอยสิ้นสุดลง แต่แรงส่ง ภาคการคลังยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายเพดานหนี้สาธารณะเป็นร้อยละ 70 ต่อ GDP ทำให้ภาครัฐ สามารถออกมาตรการเพิ่มเติมได้ในกรณีจำเป็น
ในระยะต่อไป มาตรการการคลังควรสนับสนุนการฟื้นตัว ของเศรษฐกิจอย่างตรงจุด และพิจารณาปรับสมดุลระหว่างการเยียวยาและฟื้นฟูโดยเน้นมาตรการฟื้นฟู และสร้างรายได้รวมถึงการสนับสนุนการลงทุนเพื่อยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว
5. คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินช่วยสนับสนุนให้ภาวะการเงินโดยรวมผ่อนคลายต่อเนื่อง โดย สภาพคล่องในระบบการเงินยังอยู่ในระดับสูง และต้นทุนการกู้ยืมอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ มาตรการด้าน การเงินและสินเชื่อมีความคืบหน้าต่อเนื่อง แต่ความเสี่ยงด้านเครดิตยังเป็นอุปสรรคต่อการกระจายตัว ของสินเชื่อ โดยเฉพาะสำหรับธุรกิจ SMEs และภาคครัวเรือน ซึ่งมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูสามารถช่วย บรรเทาปัญหาได้บางส่วน
นอกจากนี้คณะกรรมการฯ เห็นว่าควรผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุง โครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน ตามมาตรการแก้หนี้ระยะยาว 3 กันยายน 2564 ให้เห็นผลในวงกว้างและ สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในระยะยาว
6. คณะกรรมการฯ เห็นว่าค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนมากขึ้นจากช่วงก่อนหน้าตามปัจจัยภายใน ประเทศ ได้แก่ การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดและการเปิดประเทศที่เร็วกว่าคาด
ทั้งนี้ ในระยะข้างหน้าควรติดตามความเสี่ยงจากปัจจัยต่างประเทศ โดยเฉพาะทิศทางการดำเนินนโยบาย การเงินที่แตกต่างกัน (policy divergence) ซึ่งอาจกระทบต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย อัตราแลกเปลี่ยน และ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทย
คณะกรรมการฯ เห็นว่าความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนอาจส่งผล กระทบต่อผู้ประกอบการในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการไทยป้องกันความเสี่ยง จากอัตราแลกเปลี่ยน (hedging) เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยสัดส่วน hedging ของผู้ส่งออกเพิ่มขึ้นจาก ต้นปีที่ร้อยละ 25 เป็นร้อยละ 35 ณ ตุลาคม 2564 แต่ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่
นอกจากนี้ ยังพบว่าต้นทุน hedging โดยรวมปรับลดลง แต่ผู้ประกอบการรายเล็กมีต้นทุนนี้สูงกว่ารายใหญ่ คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินโลกและไทยอย่างใกล้ชิด และสนับสนุน ให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs ป้องกันความเสี่ยงมากขึ้น เพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของ อัตราแลกเปลี่ยน
การดำเนินนโยบายการเงิน
คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี เพื่อสนับสนุน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง
คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้วในไตรมาสที่ 3 ปี 2564 โดยเศรษฐกิจไทยปี2564 และปี2565 จะขยายตัวใกล้เคียงกับที่คาดไว้ในการประชุมครั้งก่อน จากการใช้จ่ายในประเทศที่ทยอยปรับดีขึ้น ตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด ซึ่งช่วยชดเชยผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากราคาพลังงานโลกที่สูงขึ้น รวมถึงการเร่งกระจายวัคซีนที่ส่งผลให้ความเสี่ยงด้านต่ำลดลง แต่แนวโน้มการฟื้นตัวยังเปราะบางและมี ความไม่แน่นอน
โดยในระยะต่อไปแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐจะแผ่วลงหลังจากที่ได้เร่งไปในช่วง ก่อนหน้า ส่วนการส่งออกมีแนวโน้มชะลอลงบ้างตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า คณะกรรมการฯ เห็นว่า นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่องจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในภาพรวมจึงเห็นควรให้ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ ประกอบกับการดำเนินมาตรการด้านการเงินการคลังที่มีความต่อเนื่องเน้นการฟื้นฟูและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจจะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้รายได้ฟื้นตัวอย่างเข้มแข็ง
คณะกรรมการฯ เห็นว่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. เคลื่อนไหวผันผวนมากขึ้นจากช่วงก่อนหน้า จาก การดำเนินนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลักและแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังมี ความไม่แน่นอน จึงเห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินโลกและไทยอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ เห็นควรให้ผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX ecosystem) อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs ป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน มากขึ้น
คณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของ เศรษฐกิจ โดยมาตรการสาธารณสุขเพื่อควบคุมการระบาดที่เอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่องยังมี ความสำคัญ โดยเฉพาะหลังการเปิดประเทศ มาตรการการคลังควรสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเน้น การสร้างรายได้และเร่งเตรียมมาตรการเพื่อฟื้นฟูและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจ ขณะที่นโยบายการเงิน ช่วยสนับสนุนให้ภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลายต่อเนื่อง
สำหรับมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อควรเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและลดภาระหนี้ควบคู่กับการผลักดันให้สถาบันการเงินเร่ง ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบอย่างยั่งยืน ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้ เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน
คณะกรรมการฯ ยังคงให้น้ำหนักกับ การสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามปัจจัยสำคัญที่ส่งผล กระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ได้แก่ พัฒนาการของการระบาดหลังการเปิดประเทศ ความเพียงพอของมาตรการ การคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ และการส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นจากราคาพลังงานโลก โดยพร้อมใช้ เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น
ขอบคุณบทความจาก การเงินการธนาคาร
https://www.moneyandbanking.co.th/article/news/bot-economic-thai-241164