นับถอยหลังเข้าสู่ศักราชใหม่ 2022 ทว่าปลายพฤศจิกายนเกิดประเด็นใหญ่ในแวดวงโทรคมนาคมคือ การเปิดเผยแผนการควบรวมกิจการ ระหว่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) 2 บิ๊กผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ที่ผู้เล่นหลักเบอร์ 2 และเบอร์ 3 ในไทยที่เคยขับเคี่ยวกันอย่างหนักหันมาจูบปากผนึกกำลัง หวังโค่นเบอร์ 1 อย่างบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส)
แม้ดีลควบรวมกิจการระหว่างค่ายมือถือสีแดงและสีฟ้ายังไม่สะเด็ดน้ำเพราะต้องผ่านการพิจารณาของหน่วยงานกำกับดูแล แต่หลายฝ่ายเชื่อว่าหากการเจรจาบรรลุผล “บิ๊กดีล” นี้จะเป็นการควบรวมกิจการมูลค่าสูงที่สุดครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์โทรคมนาคมไทย
ในปี 2021 พบว่าดีลการควบรวมกิจการ หรือ merger and acquisition (M&A) ของทั้งโลก มีมูลค่าข้อตกลงการควบรวมกิจการมากสุดในรอบกว่า 15 ปี
สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น รายงานว่า จากการรวบรวมข้อมูลของ Dealogic ผู้ให้บริการข้อมูลการเงิน พบว่ามูลค่าดีลควบรวมกิจการทั่วโลกพุ่งทุบสถิติสูงสุดตั้งแต่เก็บสถิติ โดยปริมาณการควบรวมกิจการเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 63% ด้วยมูลค่าราว 5.63 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเมื่อปี 2007 มูลค่าการควบรวมกิจการอยู่ที่ 4.42 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะข้อจำกัดจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ที่กระทบภาคการเงินทั่วโลกที่ทำให้กิจกรรมด้าน M&A ซบเซาลงไปค่อนข้างมากตลอดช่วงปี 2020 ถึงต้นปี 2021
ธุรกิจเทคโนโลยี-สุขภาพ ฮอต M&A
“คริส ลูป” หัวหน้าทีมด้าน M&A ประจำอเมริกาเหนือของ เจ.พี. มอร์แกน มองว่า โอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ง่ายมากขึ้น ผนวกกับต้นทุนการกู้ยืมหรืออัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างต่ำ ขณะที่หลายองค์กรมีงบดุลแข็งแกร่ง ทำให้เกิดการเข้าซื้อและควบรวมธุรกิจมากขึ้น โดยการควบรวมกิจการในปีนี้ ส่วนใหญ่อยู่ในธุรกิจด้านเทคโนโลยีและการดูแลสุขภาพ
หากเจาะจงแต่ละพื้นที่พบว่า ดีลควบรวมกิจการในสหรัฐเพิ่มขึ้นมากสุดเกือบ 2 เท่า คิดเป็นมูลค่ารวมถึง 2.61 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในยุโรปเพิ่มขึ้นเกือบ 47% คิดเป็นมูลค่า 1.26 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และแถบเอเชีย-แปซิฟิกเพิ่มขึ้น 37% คิดเป็นมูลค่า 1.27 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ปกติบริษัทเอกชนมักระดมทุนผ่านการเสนอขายหุ้น IPO หรือขายหุ้นกู้ โดยบริษัทใหญ่มักใช้ประโยชน์จากตลาดทุนที่เฟื่องฟูด้วยการขายหุ้นเพื่อแลกเงินสดเข้ามา บางบริษัทอาจนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่ช่วงหลัง ๆ การเจรจากับคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกันเพื่อหาพันธมิตร ก็เป็นอีกหนึ่งรูปแบบที่หลายเอกชนสนใจ
“ทอม ไมล์ส” ผู้ร่วมศึกษา M&A จากมอร์แกน สแตนลีย์ กล่าวว่า ตลาดหุ้นที่แข็งแกร่งเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการควบรวมกิจการ ราคาหุ้นที่สูงมักสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจเชิงบวกและความเชื่อมั่นของผู้บริหารระดับสูง
เงินทุนหาง่าย ดันดีลเพิ่มขึ้นเท่าตัว
M&A ใหญ่ที่สุดของปีนี้คือ ข้อตกลงมูลค่า 43,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ระหว่าง “เอทีแอนด์ที” กับ “ดิสคัฟเวอรี่” รองลงมาคือการเข้าซื้อกิจการ “เมดิไลน์ อินดัสเตรียลส์” ยักษ์ใหญ่ด้านเวชภัณฑ์มูลค่า 34,000 ล้านดอลลาร์
ส่วน M&A ฝั่งยุโรปก็ไม่น้อยหน้า เมื่อ 21 พ.ย.ที่ผ่านมา KKR & Co. Inc. บริษัทจัดการลงทุนของสหรัฐ เปิดแผนการเสนอราคากับผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายใหญ่ของอิตาลีอย่าง “Telecom Italia”โดยประเมินมูลค่าไว้ราว 40,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งหากดีลสำเร็จ จะถือเป็นการเข้าซื้อหุ้นนอกตลาดที่ใหญ่ที่สุดของยุโรป
การจัดหาเงินทุนที่ง่ายดายช่วยให้เกิดข้อตกลงในการเข้าซื้อกิจการที่เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากปีที่แล้ว “ลุยจิ เดอ เวกชี” ประธานที่ปรึกษาตลาดทุนของ “ซิตี้กรุ๊ป” กล่าวว่า “นักลงทุนกำลังใช้เงินสดในอัตราที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หมายความว่าการประเมินมูลค่าทรัพย์สินโดยพื้นฐานระดับโลก แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์แล้ว คำถามคือราคาที่จ่ายตอนนี้จะยังสมเหตุสมผลหรือไม่เมื่อเวลาผ่านไป”
รัคฮาฟ มาลิอะห์ รองประธานตลาดโลกของโกลด์แมน แซกส์ กล่าวว่า สวนทางกับฝั่งจีนที่ ดีล M&A ค่อนข้างซบเซา พร้อมคาดการณ์ว่าปีหน้าแนวโน้มการควบรวมกิจการยังคงดำเนินต่อไปโดยเฉพาะในสหรัฐและยุโรป
“แบร์ทโฮลด์ ฟัวร์สท์” หัวหน้าฝ่าย M&A ของดอยช์แบงก์ เผยว่า แม้ปี 2022 ธนาคารกลางสหรัฐส่งสัญญาณขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึง 3 ครั้ง แต่ไม่ทำให้เป็นอุปสรรคของ M&A เนื่องจากบริษัทและนักลงทุนต่างเร่งรีบลงนามในข้อตกลงก่อนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ปัจจัยเดียวที่จะกระทบหรือทำให้กิจกรรม M&A ชะลอตัวคือ ความล่าช้าในการพิจารณาเงื่อนไขของคณะกรรมาธิการการค้าของรัฐบาลกลาง และกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ ซึ่งมีหน้าที่จับตาการควบรวมกิจการและป้องกันการผูกขาด
แหล่งที่มาของบทความ