ในขณะที่การเติบโตนอกสหรัฐเริ่มสะดุด นักเศรษฐศาสตร์ คาดว่า รัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกจะ เดินตามเกมเศรษฐกิจของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ผู้นำสหรัฐ โดยใช้มาตรการภาษีและ ทุ่มงบประมาณเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจของตน
“ชโรเดอร์ส” บริษัทบริหารสินทรัพย์ชื่อดังของสหราชอาณาจักร เผยแพร่รายงาน เรื่อง “ประเทศอื่นๆ ควรเดินตามเกมเศรษฐกิจของทรัมป์หรือไม่” เมื่อเร็วๆ นี้ ชี้ว่าการเติบโตทั่วโลกในปี 2560 มีคุณลักษณะเฉพาะจากการขยายตัวในเวลาเดียวกันของบรรดาเศรษฐกิจสำคัญของโลก ส่วนใหญ่เป็นผลจาก การเติบโตของการค้าโลกที่คึกคักซึ่งช่วยให้ทุกเศรษฐกิจได้อานิสงส์กันถ้วนหน้า
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่การค้าโลกซบเซาลงในปีนี้ การเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกกลับเกื้อหนุนกันน้อยลง แม้จีน ยุโรป และญี่ปุ่น ต่างมีอัตราการเติบโตชะลอตัวลง แต่เศรษฐกิจสหรัฐยังคงเดินหน้าอย่างแข็งแกร่ง
คีธ เวด หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์และนักกลยุทธ์ของชโรเดอร์ส กล่าวว่า หนึ่งใน ความแตกต่างสำคัญระหว่างสหรัฐกับเศรษฐกิจอื่นๆ ที่กล่าวถึง คือความสามารถของสหรัฐในการรักษาการเติบโตภายในประเทศให้แข็งแกร่งในช่วงที่ความต้องการจากนอกประเทศชะลอตัวลง
“จีน ยุโรป และญี่ปุ่นต่างได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของการค้าโลกที่เกิดขึ้นในปี 2560 แต่หลังจากนั้นมาสถานการณ์กลับพลิกผัน ประเทศเหล่านี้สูญเสียตัวกระตุ้นการเติบโตสำคัญ และไม่สามารถชดเชยจุดนี้ ด้วยการเติบโตภายในประเทศได้”
ในสหรัฐ นโยบายภาษีและการใช้จ่ายของรัฐบาลซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้น การเติบโต ช่วยสนับสนุนความต้องการภายในประเทศที่คึกคัก ด้วยการยกระดับการบริโภคและการใช้จ่ายของภาครัฐ ชโรเดอร์สมองว่าอาจเป็นเพราะนโยบายการคลังของประธานาธิบดีทรัมป์มาถูก จังหวะเวลา ซึ่งทำให้สหรัฐเปลี่ยนตัว กระตุ้นการเติบโตได้ทันในช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มถดถอย แนวโน้มสำหรับการค้าโลกเริ่มมีความท้าทาย เนื่องจากตัวชี้วัดสถานการณ์ในอนาคต เช่น ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (พีเอ็มไอ) ทั่วโลกของยอดคำสั่งส่งออก ต่างบ่งชี้ว่าจะมีการชะลอตัวลงใน ช่วงหลายเดือนข้างหน้า ยอดคำสั่งส่งออกใหม่ถือเป็นตัวชี้วัดของกิจกรรมการค้าในอนาคต จึงดูเหมือนว่าไม่มีแนวโน้มที่การฟื้นตัวของการค้าโลกจะช่วยให้การเติบโตทั่วโลกกลับมาเกื้อหนุนกันอีกครั้ง
ชโรเดอร์ส ระบุว่า สิ่งที่อาจเป็นเครื่องพิสูจน์ที่เห็นผลมากกว่าในขณะนี้คือ หากรัฐบาลประเทศต่างๆ เดินตามรอยทรัมป์ เกี่ยวกับการออกนโยบายการคลัง (ภาษีและใช้จ่าย) ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายเริ่มเห็นบ้างแล้วในปัจจุบัน
เมื่อไม่นานนี้ จีนได้ประกาศปรับลดภาษีและอยู่ระหว่างหารือกันว่าจะลดภาษีอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ภาษียอดขายรถ ภาษีมูลค่า เพิ่ม (แวต) และภาษีนิติบุคคล ส่วนในยุโรป เยอรมนีเตรียมจะขยายนโยบายการคลังให้ครอบคลุมขึ้นในปีหน้า ขณะที่อิตาลีได้ประกาศนโยบายการคลังที่พุ่งเป้าเพิ่มการเติบโต และสหราชอาณาจักรก็เริ่มผ่อนคลายงบประมาณของตนเช่นกัน
ขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นประกาศงบประมาณเสริมและมีการหารือเกี่ยวกับวิธีชดเชย ผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีผู้บริโภคในปี 2562 เช่น การเพิ่มงบประมาณเกี่ยวกับ อนุบาลศึกษาและมาตรการอื่นๆ
ชโรเดอร์ส คาดว่า ในอนาคตอาจได้เห็น รัฐบาลจำนวนมากขึ้นเข้าแทรกแซง เพื่อสนับสนุนการเติบโตด้วยมาตรการภาษีและการใช้จ่าย โดยเฉพาะใน ช่วงที่บรรดาธนาคารกลางหันมาให้ความสำคัญกับการปรับนโยบายทางการเงินสู่ภาวะปกติ
“สำหรับบรรดานักลงทุน สิ่งนี้จะถือเป็น การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากการสนับสนุนแบบเดิมโดยธนาคารกลาง มาเป็นการสนับสนุน ที่มีความยืดหยุ่นน้อยกว่า และอาศัยความซับซ้อนทางการเมืองมากขึ้น”
นอกจากนั้น ข้อมูลล่าสุดยังชี้ว่าสงครามการค้าระหว่างรัฐบาลวอชิงตันกับปักกิ่ง กำลังส่งผลกระทบต่อบรรดาเศรษฐกิจที่พึ่งพาการส่งออกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทำให้แนวโน้มสำหรับธุรกิจในภูมิภาคไม่แน่นอน
การเติบโตในอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ต่างชะลอตัวลงเมื่อเทียบเป็นรายปี ในช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย. ที่ผ่านมา หลังสหรัฐและจีนเริ่มเพิ่มการเก็บภาษีนำเข้าระหว่างกัน
ข้อมูลจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ระบุว่า อัตราการเติบโตของ 5 เศรษฐกิจ ขนาดใหญ่แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในไตรมาส 3 อยู่ที่ 4.5% ลดลงจาก 5.5% ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
ข้อมูลเมื่อวันพฤหัสบดี (22 พ.ย.) ชี้ว่า สิงคโปร์เติบโต 2.2% ในไตรมาสก่อนหน้า ลดลงจาก 4.1% ในช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย. หลักๆ เป็นผลมาจากภาวะชะลอตัวในภาคการผลิต คาดว่าเศรษฐกิจของสิงคโปร์จะเติบโต 1.5-3.5% ในปีหน้า ชะลอตัวกว่าตัวเลขคาดการณ์การเติบโตในปีนี้ ซึ่งอยู่ที่ 3.0-3.5%
“มีความเสี่ยงว่าความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐกับบรรดาประเทศคู่ค้าสำคัญ ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ จะทวีความรุนแรงขึ้นอีก ซึ่งอาจยิ่งฉุดความเชื่อมั่นของธุรกิจและ ผู้บริโภคทั่วโลกอย่างหนัก” กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ ระบุ ขณะที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบหนักเช่นกัน โดยอัตราการเติบโตรายปีลดลง มาอยู่ที่ 3.3% ในไตรมาส 3 ของปีนี้ จาก 4.6% ในไตรมาส 2
การส่งออกซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่า 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของไทย ลดลง 0.1% ในช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย. ซึ่งถือว่าลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับที่ เพิ่มขึ้น 6.8% ในไตรมาสก่อนหน้า หลักๆ เป็นผลมาจากการลดลงของการส่งออกไปจีน ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางการส่งออกรายใหญ่ ของประเทศ
“สงครามการค้าที่ยืดเยื้อเริ่มสร้างความเสียหายต่อการส่งออกของเราในไตรมาส 3 ของปีนี้” รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) บริษัท เอสซีจี ยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหกรรมของไทยเผยกับเว็บไซต์นิคเกอิ เอเชียน รีวิว และว่า “ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีนเพิ่มความไม่แน่นอนให้กับนโยบายการนำเข้าของประเทศคู่ค้าของเรา และทำให้การส่งออกของเราลดลง” สถานการณ์ดังกล่าวยังไม่มีแนวโน้ม ที่จะดีขึ้นในช่วงหลายเดือนข้างหน้า บรรดานักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทแคปิตัล อีโคโนมิกส์ ระบุว่า ความต้องการจากต่างประเทศสำหรับสินค้าส่งออกของไทยส่อเค้าที่จะซบเซา ลงอีก เนื่องจากการเติบโตในสหรัฐและจีนมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงในหลายไตรมาสข้างหน้า
Source: Posttoday