กลุ่มผู้นำจากสหภาพยุโรป (EU) ได้ออกมาเตือนนักการเมืองอังกฤษว่า อังกฤษจะไม่ได้รับข้อตกลงที่ดีกว่านี้ หากอังกฤษปฏิเสธข้อตกลงที่ทาง EU ได้อนุมัติไปเมื่อวานนี้ เพราะฝั่ง EU ไม่มี “แผนสอง”
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า นายฌอง-คล็อด ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ได้แสดงจุดยืนที่แข็งกร้าวโดยมีเป้าหมายที่นักการเมืองอังกฤษ ซึ่งได้ขู่ที่จะปฏิเสธข้อตกลงดังกล่าว
นายฌอง-คล็อด ยุงเกอร์ กล่าวว่า “ผู้ที่คิดว่าการปฏิเสธข้อตกลงนี้จะทำให้มีข้อตกลงที่ดีกว่า คงต้องรู้สึกผิดหวังกลับไปเมื่อปฏิเสธไปได้ไม่กี่วินาที”
นายฌอง-คล็อด ยุงเกอร์ มองว่าการที่อังกฤษตัดสินใจถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปนั้นเป็นช่วงเวลาอันน่าเศร้า ขณะเดียวกันเขาก็เสริมว่า ตนไม่คิดว่าอังกฤษจะกลายเป็นประเทศที่สาม (ประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก EU) เหมือนกับประเทศที่สามประเทศอื่น ๆ
ด้านนายโดนัลด์ ทัสค์ ประธานคณะมนตรียุโรป กล่าวเสริมว่า “นี่เป็นข้อตกลงเดียวที่เป็นไปได้”
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้น หลังเมื่อวานนี้ที่ประชุม 27 ชาติสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) ได้อนุมัติปฏิญญาว่าด้วยความสัมพันธ์ในอนาคตระหว่างสหราชอาณาจักรและ EU หลังจากที่สหราชอาณาจักรแยกตัวจาก EU อย่างเป็นทางการในวันที่ 29 มี.ค.ปีหน้า
หลังจากที่เจรจากันเป็นเวลานานถึง 20 เดือน ในที่สุดกลุ่ม EU ก็ได้ลงมติอนุมัติข้อตกลง Brexit ในการประชุมสุดยอดครั้งประวัติศาสตร์ของ EU เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา
ข้อตกลง Brexit ฉบับนี้จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาอังกฤษ โดยคาดว่ารัฐสภาอังกฤษจะลงมติข้อตกลงดังกล่าวในช่วงต้นเดือนธ.ค.
อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่าข้อตกลงดังกล่าวจะไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา โดยนายโดมินิค แรบ อดีตรัฐมนตรีฝ่ายกิจการ Brexit กล่าวว่า ข้อตกลง Brexit ที่นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ทำไว้กับ EU จะไม่ผ่านการอนุมัติจากรัฐสภาอังกฤษ และรัฐบาลจะต้องเสนอข้อตกลงทางเลือกอื่น หากอังกฤษตกอยู่ในสถานการณ์ที่แยกตัวออกมาโดยไม่มีการบรรลุข้อตกลงกับ EU
นายแรบได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งหลังจากที่นางเมย์สามารถบรรลุข้อตกลงกับ EU เกี่ยวกับร่างข้อตกลง Brexit แต่สร้างกระแสความไม่พอใจต่อสมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยม ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล
นายแรบระบุว่า เขาไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขในข้อตกลง Brexit ของนางเมย์ เนื่องจากไม่สอดคล้องกับคำสัญญาที่พรรคอนุรักษ์นิยมให้ไว้แก่ประชาชนในการเลือกตั้งปีที่แล้ว
ทั้งนี้ สหราชอาณาจักรจะสิ้นสุดการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปในวันที่ 29 มีนาคม 2562 แต่ระยะเวลาเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านจะดำเนินไปจนถึงเดือนธันวาคมปี 2563 ในระหว่างนี้ อังกฤษจะยังคงอยู่ภายใต้กฎระเบียบของ EU แต่อังกฤษจะไม่มีสิทธิออกเสียงหรือลงคะแนนต่อมติ โดยช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านดังกล่าวจะยาวนานเพียงพอที่จะให้ทั้ง 2 ฝ่ายสามารถเจรจาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในอนาคต รวมถึงการเจรจาข้อตกลงทางการค้าแบบถาวรระหว่างอังกฤษและ EU ได้
นายโดนัลด์ ทัสค์ แถลงต่อสื่อมวลชนว่า สหภาพยุโรปและอังกฤษจะยังคงเป็นมิตรสหายที่ดีต่อกันไปจนถึงวันสุดท้าย และวันต่อไปหลังจากนั้น
เขากล่าวเสริมว่า “สิ่งที่รอเราอยู่ข้างหน้าคือกระบวนการอนุมัติอันยากลำบาก เช่นเดียวกับการเจรจาเพิ่มเติม”
นายมิเชล บาร์นิเยร์ ตัวแทนเจรจาฝ่าย EU แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า “ขณะนี้เป็นเวลาที่ทุกคนต้องแสดงความรับผิดชอบ”
Source: อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย กนิษฐนุช สิริสุทธิ์/รัตนา
– EU backs Brexit deal as UK PM faces battle to win support from Westminster
http://www.xinhuanet.com/…/europe/2018-11/26/c_137630882.htm
– Key points in the EU-UK Brexit agreement
https://abcnews.go.com/…/deal-key-points-eu-uk-brexit-agree…