คาดมติ’4:3′ เพิ่มขีดความสามารถนโยบายการเงิน-รับความเสี่ยง กนง.จ่อ’ขึ้นดอกเบี้ย’รอบ 7 ปี : การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) วันที่ 19 ธ.ค.นี้ ซึ่งเป็นนัดส่งท้ายปี 2561 มีความเป็นไปได้สูงที่ กนง. จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จากระดับ 1.5% เป็น 1.75%
ซึ่งจะนับเป็นการปรับ ขึ้น ดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 7 ปี และยังเป็นการ ขยับ ดอกเบี้ยครั้งแรกในสมัยของ วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) คนปัจจุบัน
สาเหตุที่ กนง. น่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ เพราะต้องการลดพฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น(search for yield) นำไปสู่การสะสมความเปราะบางในระบบเศรษฐกิจ และที่สำคัญกนง.ส่งสัญญาณมาตลอดว่า ต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน(policy space) เพื่อรองรับความเสี่ยงในระยะข้างหน้า
อย่างไรก็ตามภายใน บอรด์ กนง. ทั้ง 7 คน ยังมีความเห็นต่อภาพเศรษฐกิจและความเสี่ยงในระยะข้างหน้าแตกต่างกัน โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ สายเหยี่ยว ที่สนับสนุนการ ขึ้นดอกเบี้ย เพราะห่วงเรื่องเสถียรภาพระบบการเงินในระยะข้างหน้า และ สายพิราบ ที่สนับสนุนการ คงดอกเบี้ย เพื่อรักษาระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจ
โดย สายเหยี่ยว ค่อนข้างห่วงเรื่องเสถียรภาพระบบการเงินในระยะข้างหน้า ซึ่งมองว่า ความเสี่ยง เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากการที่ดอกเบี้ยอยู่ระดับต่ำเป็นเวลานาน ทำให้พฤติกรรม search for yield เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และเริ่มจะนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงที่ต่ำกว่าความเป็นจริง(underpricing of risk) มากขึ้นเรื่อยๆ
นอกจากนี้กลุ่มสายเหยี่ยว ยังเห็นว่า เศรษฐกิจไทยช่วงที่ผ่านมาขยายตัวได้ค่อนข้างดี แม้ปัจจุบันจะเริ่มชะลอตัวลงบ้าง แต่ยังเป็นระดับที่สูงกว่าศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทย ประกอบกับถ้ามองไประยะข้างหน้าเริ่มมีความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกมากขึ้น นโยบายการเงินจึงควรให้ความสำคัญกับการเพิ่มขีดความสามารถของนโยบาย หรือเพิ่ม policy space โดยการปรับขึ้นดอกเบี้ย 1-2 ครั้ง และขึ้นครั้งละ 0.25% ไม่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ในทางกลับกันจะช่วยลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งเป็นผลดีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว
สายพิราบห่วงกำลังซื้อฐานราก
สำหรับ กลุ่มสายพิราบ มองว่า เศรษฐกิจแม้จะขยายตัวดี แต่กระจุกตัวเฉพาะเศรษฐกิจระดับกลางถึงบน ขณะที่เศรษฐกิจฐานรากซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศยังทรงตัว การขึ้นดอกเบี้ยจะยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจคนกลุ่มนี้ อีกทั้งมองว่า เศรษฐกิจกำลังเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำจากผลกระทบของมาตรการกีดกันการค้าที่มีความไม่แน่นอนสูง การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายจึงยังมีความจำเป็น
นอกจากนี้ ยังมองว่าเงินเฟ้อทั่วไปที่ กนง. ใช้เป็นเป้าหมายในการทำนโยบายการเงินยังทรงตัวในระดับต่ำ นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายจะเอื้อให้เงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ 1-4% ได้ ขณะที่การขึ้นดอกเบี้ยจะยิ่งทำให้เงินเฟ้อลดลงต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย
ส่วนเรื่องความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินนั้นกนง.สายพิราบมองว่า สามารถนำมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน(macroprudential measures) มาช่วยดูแลความเสี่ยงเหล่านี้ได้ ซึ่งเป็นมาตรการที่เฉพาะจุดไม่กว้างเหมือนดอกเบี้ย ขณะที่ สายเหยี่ยว ประเมินว่า มาตรการลักษณะนี้ไม่สามารถทดแทนการดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมได้
สำหรับ กนง. ทั้ง 7 คน ประกอบด้วย วิรไท สันติประภพ , เมธี สุภาพงษ์ , ไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน , เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ , คณิศ แสงสุพรรณ , สุภัค ศิวะรักษ์ และ สมชัย จิตสุชน
กองบรรณาธิการ กรุงเทพธุรกิจ ประเมินว่า มติ กนง. เมื่อวันที่ 14 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งมีคะแนน 4 ต่อ 3 เสียง ให้ คง ดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% โดย 3 เสียง เสนอให้ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ประกอบด้วย 1.ไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ซึ่งเราเชื่อว่า ไพบูลย์ เป็นคนแรกที่โหวตให้ขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา เพราะเขาห่วงเรื่องเสถียรภาพระบบการเงินมาโดยตลอด ที่สำคัญ ไพบูลย์ จะค่อนข้างกังวลว่า เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวดี แต่นโยบายการเงินถอนคันเร่งช้า จะเพิ่มความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าได้
ส่วนอีก 2 คน เราเชื่อว่า เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ และ เมธี สุภาพงษ์ เป็น 2 คนที่โหวตขึ้นดอกเบี้ยตามลำดับ ซึ่งทั้ง 2 คน นี้มีมุมมองต่อนโยบายการเงินไม่ต่างไปจาก ไพบูลย์ มากนัก โดยมองว่า ดอกเบี้ยที่อยู่ระดับต่ำนานเกินไปจะยิ่งสะสมความเปราะบางทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ขณะที่เศรษฐกิจช่วงที่ผ่านมาเติบโตร้อนแรง แม้จะชะลอลงมาบ้างแต่ก็เป็นระดับที่สูงกว่าศักยภาพ ที่สำคัญการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน นอกจากใช้เครื่องมือ macroprudential measures แล้ว ยังต้องผสานเครื่องมืออื่นๆ เช่น ดอกเบี้ยนโยบายด้วย
ฟันธง19ธ.ค.นี้ขึ้นดอกเบี้ย 0.25 %
สำหรับการประชุมในวันที่ 19 ธ.ค.นี้ กองบรรณาธิการกรุงเทพธุรกิจ คาดการณ์ว่า คะแนนเสียงในที่ประชุม กนง. จะออกมาเท่าเดิม คือ 4 ต่อ 3 เสียง เพียงแต่มติที่ประชุมจะเปลี่ยนไปเป็นให้ ปรับขึ้น ดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% โดยเราเชื่อว่าจะมี กนง. หนึ่งเสียง ที่เปลี่ยนผลโหวตจากให้ คง ดอกเบี้ยมาเป็น ขึ้น ดอกเบี้ยในการประชุมรอบนี้
คะแนนเสียงที่จะเปลี่ยนผลโหวตในครั้งนี้ น่าจะเป็น วิรไท สันติประภพ ซึ่งที่ผ่านมา วิรไท ให้ความสำคัญและเห็นความจำเป็นในการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมาโดยตลอด แต่ขณะเดียวกันก็ห่วงว่า การปล่อยให้ดอกเบี้ยอยู่ระดับต่ำเป็นเวลานานเกินไป จะยิ่งสะสมความเปราะบางในระบบการเงินมากขึ้น และปัจจุบันก็เริ่มเห็นพฤติกรรม search for yield ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แม้จะนำมาตรการ macroprudential มาใช้บ้างแล้ว แต่ยังไม่สามารถลบความเสี่ยงไปได้ทั้งหมด
ที่สำคัญมองไปข้างหน้า เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น ความจำเป็นในการเพิ่มขีดความสามารถของนโยบายการเงินเพื่อรองรับความเสี่ยงในระยะข้างหน้าจึงมีความสำคัญมากขึ้น ส่วนเศรษฐกิจไทยเวลานี้แม้จะชะลอตัวลงบ้าง แต่ยังเป็นระดับที่สูงกว่าศักยภาพ เหตุผลในการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อเพิ่ม policy space ยังพอมี ขณะที่เงินเฟ้อเริ่มสูงกว่ากรอบเป้าหมายต่อเนื่อง
ส่วน สมชัย จิตสุชน ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการวิจัยนโยบาย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ซึ่งคลุกคลีกับเศรษฐกิจกลุ่มฐานราก เราเชื่อว่า เขาน่าจะเลือกโหวตให้ คง ดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้ก่อน เพราะการปรับขึ้นดอกเบี้ยย่อมเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจฐานรากที่ยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัว เช่นเดียวกับ สุภัค ศิวะรักษ์ แม้จะเป็นอดีตนายแบงก์ แต่ปัจจุบันนั่งเป็นบอร์ดใน บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน) ทำให้เขาคลุคลีกับเศรษฐกิจฐานรากมากขึ้น จึงน่าจะเป็นอีกหนึ่งเสียงที่เลือกคงดอกเบี้ยไว้ก่อนในการประชุมรอบนี้
ขณะที่ คณิศ แสงสุพรรณ เราเชื่อว่าเขาจะเป็น คนสุดท้าย ที่จะโหวตให้ ขึ้น ดอกเบี้ยนโยบาย จากมุมคิดที่ชัดเจนว่า เศรษฐกิจต้องโตดีและกระจายตัว ดอกเบี้ยจึงปรับขึ้นได้ เพราะดอกเบี้ยขึ้นเมื่อไหร่คนเป็นหนี้ย่อมโดนผลกระทบก่อน ที่สำคัญ คณิศ มีบทบาทเป็นคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ซึ่งเวลานี้เขามุ่งมั่นสนับสนุนให้คนมาลงทุนในพื้นที่อีอีซีมากขึ้น แน่นอนว่าผู้ลงทุนย่อมไม่ชอบดอกเบี้ยสูง เราจึงเชื่อว่า คณิศ จะเป็นคนท้ายสุดที่โหวตให้ขึ้นดอกเบี้ย
โดยสรุปแล้ว กองบรรณาธิการกรุงเทพธุรกิจ เชื่อว่าการประชุม กนง. รอบนี้ เป็นจังหวะและโอกาสที่เหมาะสมสุดในการขยับดอกเบี้ยนโยบายเพื่อหยั่งเชิงตลาด จึงเชื่อว่า ที่ประชุมในวันที่ 19 ธ.ค.2561 จะมีมติ 4 ต่อ 3 เสียง ให้ ขึ้น ดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จากระดับ 1.5% เป็น 1.75%
กูรูคาดมติ4ต่อ3ขึ้นดอกเบี้ย
ขณะที่ผลการสำรวจ นักเศรษฐศาสตร์ ส่วนใหญ่ประเมินตรงกันว่า การประชุม กนง. ครั้งนี้ ที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่จะมีมติให้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของนโยบายการเงิน และลดความเสี่ยงจากพฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น
สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ประเมินว่า ครั้งนี้ที่ประชุมน่าจะมีมติ ปรับขึ้น อัตราดอกเบี้ย 0.25% จากระดับ 1.5% เป็น 1.75% ด้วยคะแนน 4 ต่อ 3 เสียง เนื่องจากเงื่อนไขทางเศรษฐกิจในปัจจุบันเอื้อให้ดอกเบี้ยสามารถปรับเข้าสู่ระดับสมดุลได้
นอกจากนี้ที่ผ่านมา กนง. ยังส่งสัญญาณทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพถึงความจำเป็นในการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง โดยเชิงปริมาณทำผ่านคะแนนเสียงของ กนง. ที่ขยับขึ้นจาก 1 เสียง มาเป็น 3 เสียงในครั้งล่าสุด และเชิงคุณภาพ ดำเนินการผ่านการให้สัมภาษณ์ของผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)
ผมว่าแฟร์ที่ดอกเบี้ยจะปรับเพิ่มขึ้นแม้ว่ารอบนี้ กนง. อาจปรับคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้และปีหน้าลง แต่สาเหตุการปรับลงมาจากตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 3 ที่ออกมาต่ำคาด จากเครื่องยนต์หลักชะลอลงพร้อมกัน ซึ่งต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยกระจุกตัวอยู่แค่บางกลุ่มเมื่อเกิดอะไรขึ้น ตัวเลขจึงสะดุดลงบ้าง
มั่นใจช่วยรักษาเสถียรภาพระยะยาว
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ จะไม่มีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ตรงกันข้ามการขึ้นดอกเบี้ยยังเข้ามาช่วยดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจในระยะยาวด้วย
สมประวิณ คาดว่า หลังการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันที่ 19 ธ.ค.นี้แล้ว กนง. อาจพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในการประชุมเดือนมี.ค.2562 ซึ่งจะทำให้ดอกเบี้ยนโยบายขยับขึ้นเป็น 2% หลังจากนั้นเชื่อว่าดอกเบี้ยจะทรงตัวในระดับดังกล่าวยาวตลอดปี 2562
นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย(ทีเอ็มบี) ประเมินว่า การประชุมครั้งนี้ กนง. น่าจะมีมติ 4 ต่อ 3 เสียง ให้ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.75% เนื่องจาก กนง. ต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน(policy space) และลดพฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทน(search for yield) แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มชะลอตัวลง ทำให้ กนง. อาจไม่สามารถปรับขึ้นดอกเบี้ยได้มากนัก
เรามองว่ารอบนี้คงปรับเพิ่มขึ้น แต่ก็คงขึ้นได้แค่ครั้งเดียว หรืออย่างมากเต็มที่ปีหน้าก็ขึ้นได้อีกเพียง 1 ครั้ง ซึ่งต้องยอมรับว่าโอกาสการขยับขึ้นดอกเบี้ยเริ่มมีน้อยลง ตามเศรษฐกิจที่เริ่มชะลอตัว เพราะปีหน้าเศรษฐกิจคงไม่เอื้อให้ปรับขึ้นดอกเบี้ยมากนัก
Source: กรุงเทพธุรกิจ