สงครามการค้าสหรัฐ-จีนชะลอแผนลงทุนบริษัทข้ามชาติในเอเชีย : ขณะที่การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและ จีนยังคงเดินหน้าต่อไป เพื่อหาจุดลงตัว กรณีพิพาทระหว่างกัน ผลพวงของการตอบโต้กันด้วยมาตรการภาษีของ 2 ประเทศช่วงที่ผ่านมา เริ่มส่งผลเป็นรูปธรรมต่อบริษัทข้ามชาติที่มาลงทุนในภูมิภาคเอเชีย ล่าสุดบริษัทจำนวนมากเริ่มส่งสัญญาณว่าชะลอแผนการลงทุน ไว้ก่อน จนกว่าจะมั่นใจว่าทั้งสหรัฐและจีน จะหาทางออกร่วมกันในศึกการค้าได้
ผลสำรวจล่าสุด จัดทำโดยแบล็กบ็อกซ์ รีเสิร์ช ของหอการค้าอเมริกันในสิงคโปร์ ระบุว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและ จีนส่งผลต่อการดำเนินกลยุทธ์ทาง ธุรกิจของบริษัทข้ามชาติที่ดำเนิน ธุรกิจในภูมิภาคเอเชียประมาณ 68%
แม้ว่าบริษัทหลายแห่งจะมองว่า สงครามการค้าครั้งนี้ช่วยให้หลายประเทศ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็น แหล่งลงทุนที่น่าดึงดูดใจและเป็นทางเลือกด้านการลงทุนแทนที่จีน โดยยังคงมี การลงทุนในภูมิภาคนี้อย่างคึกคัก
ท่ามกลางกระแสคาดการณ์ของ บริษัทจำนวนมากที่มองแง่ดีว่าเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น บริษัทเฟซบุ๊ค ที่ตัดสินใจสร้างศูนย์ข้อมูลในสิงคโปร์ มูลค่า 1.02 พันล้านดอลลาร์เมื่อไม่นานมานี้
รายงานสำรวจชิ้นนี้ ซึ่งสอบถาม ความเห็นของบริษัทที่เป็นสมาชิกของหอการค้าอเมริกันจำนวน 179 แห่ง แบ่งเป็นบริษัทที่มีฐานดำเนินงานอยู่ในสหรัฐ 63% และกว่า 90% เป็นบริษัทข้ามชาติที่ เข้ามาลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก บ่งชี้ว่า ผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นบริษัทอเมริกัน 74% บอกว่าได้รับผลกระทบจากการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน เทียบกับบริษัทสัญชาติอื่น 55% สะท้อนว่ามาตรการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มเติมของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐเพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันให้แก่บริษัทอเมริกันอาจจะใช้ไม่ได้ผล
นอกจากนี้ 50% ของผู้ตอบแบบ สอบถามยังระบุว่า กำลังอยู่ระหว่าง ทบทวนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ ซึ่งรวมถึง การเลื่อน หรือยกเลิกแผนการลงทุน ด้านต่างๆ ส่วนผู้ตอบแบบสอบถาม เกือบ 40% ระบุว่าเริ่มคิดเรื่องจ้าง ผลิตจากแหล่งผลิตในประเทศอื่นที่ ไม่ใช่จีน
อย่างไรก็ตาม ทางการจีนหวังว่า สงครามการค้าที่ดำเนินมาอย่างยืดเยื้อ จะยุติลงได้หลังผ่านพ้นช่วงสงบศึก 90 วัน โดยนายหวาง ตงฮัว ทูตจีนประจำกงสุลจีนในนครซานฟรานซิสโก เขียนบทความ ในซานฟรานซิสโก โครนิเคิล โดยระบุว่า การหยุดพักข้อพิพาทการค้าระหว่างจีน และสหรัฐ ช่วยผ่อนคลายความวิตก กังวลเกี่ยวกับเรื่องการขยายตัวของเศรษฐกิจ และเสถียรภาพของตลาดใน 2 ประเทศได้อย่างดี
ทั้งยังบอกว่า เป็นข่าวดีสำหรับเศรษฐกิจและตลาดโลกที่ผู้นำของจีนและสหรัฐ ได้ประชุมและรับประทานอาหารเย็นร่วมกันอย่างสร้างสรรค์นอกรอบการประชุมจี20 ที่อาร์เจนตินา เพราะระหว่างการประชุมช่วงรับประทานอาหารเย็นนั้น ทั้งประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน และประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เห็นชอบร่วมกันว่า จะยังไม่มีการจัดเก็บภาษีชุดใหม่เพิ่มเติม
นายหวาง ระบุด้วยว่า ถือเป็น ผลประโยชน์สำหรับทั้ง 2 ฝ่ายที่สามารถไกล่เกลี่ยความคิดเห็นที่แตกต่างกัน เนื่องจากทั้ง 2 ฝ่ายต่างมีการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจซึ่งกันและกัน ในขณะที่ชาวอเมริกันจำนวนมากที่ตนเองได้พูดคุยด้วยนั้น ต่างหวังว่า ความขัดแย้งทางการค้าจะยุติลงโดยเร็ว และไม่ส่งผลกระทบต่อบริษัทของสหรัฐ
แต่ดูเหมือนว่า นอกจากสงคราม การค้าระหว่างสหรัฐและจีน จะส่งผล ต่อแนวโน้มการลงทุนของบริษัทข้ามชาติในเอเชียแล้ว ยังส่งผลต่อการจัดระเบียบใหม่ของโลกในปี 2562 ด้วย โดยคอนโทรล ริสก์ บริษัทผู้เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาด้านความเสี่ยงระดับโลก ระบุว่า นโยบายของสหรัฐที่เน้นควบคุมจีนจะกลายเป็น เสาหลักของการจัดระเบียบโลกใหม่ ในปีหน้า
“ริชาร์ด เฟนนิง” ประธานคณะ เจ้าหน้าที่บริหาร(ซีอีโอ)ของคอนโทรล ริสก์ ให้ความเห็นว่า ในปีหน้า สิ่งที่จุดชนวนให้เกิดสงครามการค้าจะรุนแรงขึ้นจนกลายเป็นท่าทีแบบถาวรมากขึ้น ในที่สุด การเผชิญหน้าด้านการค้า ระหว่างสหรัฐและจีนจะกลายเป็น ปัจจัยที่นิยามพลวัตด้านภูมิรัฐศาสตร์ ของโลก ความสัมพันธ์ที่เป็นปฏิปักษ์ กันนี้ จะสร้างความยุ่งยากให้กับภาค ธุรกิจในจีนและสหรัฐ บริษัทที่อยู่ใน แวดวงที่เกี่ยวกับความขัดแย้งครั้งนี้จะรู้สึกได้ถึงผลกระทบทางการเมืองและเศรษฐกิจ
รายงานประเมินความเสี่ยงโลกชิ้นนี้ ระบุด้วยว่า แนวทางการใช้ข้อมูลทั่วโลก จะกลายเป็นความเสี่ยงระดับใหม่สำหรับการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศในปีหน้า เพราะสำหรับจีนแล้ว ข้อมูลเป็นสิ่งที่ต้องควบคุม และสำหรับสหภาพยุโรป (อียู) ข้อมูลเป็นสิ่งที่ต้องปกป้อง
ขณะที่สหรัฐ มองว่าข้อมูลเป็นสิ่งที่ทำให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ ดังนั้น ควรเตรียมตัวรับมือกับความท้าทายในการรวบรวม จัดเก็บ และถ่ายโอนข้อมูลภายใน และระหว่างผู้ควบคุมกฎระเบียบขณะที่การบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับข้อมูล ยังขาดความ ต่อเนื่อง และทำให้ภัยคุกคามต่อความมั่นคงในโลกไซเบอร์เพิ่มมากขึ้น
ขณะที่ความผิดพลาดจากภาวะ ชะงักงันด้านนิติบัญญัติจะทำให้การกำหนดนโยบายในสหรัฐ เข้าสู่ช่วงเวลาแห่ง ความไม่แน่นอนทางการเมือง ขณะที่การต่อต้านจากพรรครีพับลิกันในวุฒิสภา และทำเนียบขาว จะเป็นปัจจัยที่ลบล้าง ความหวังที่ภาคธุรกิจจะดำเนินงานไปได้อย่างต่อเนื่อง แต่นโยบายการค้าจะยัง ไม่มีการเปลี่ยนแปลง อัตราการผ่อนคลายกฎระเบียบจะชะลอลง ส่วนนโยบาย ต่างประเทศ อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงแบบกะทันหัน และไม่แน่นอนท่ามกลางสภาวะทั่วโลกที่ต้องการความชัดเจน และ ความตั้งใจมุ่งมั่น
นอกจากนี้ ยังมีอีกปัจจัยที่ถือว่าสำคัญมากและควบคุมไม่ได้ นั่นคือ สภาพอากาศที่แปรปรวน และผลที่เกิดขึ้นตามมา ตั้งแต่ค่าเสียหายด้านการผลิต การจัดจำหน่าย การจำหน่าย และการเดินทางจะพุ่งสูงขึ้นมากในปีหน้าอันเนื่องมาจากพายุ อุทกภัย ภัยแล้ง และไฟป่า
รายงานริสก์แมพ 2562 ระบุว่า โลกที่กำลังอยู่ในช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านไปสู่การจัดระเบียบโลกใหม่ ธุรกิจต่างๆจึงต้องพัฒนาความสามารถในการฟื้นตัว รูปแบบใหม่เพื่อความอยู่รอด ธุรกิจระหว่างประเทศในปี 2562 จะรู้สึกเสียดายความเห็นพ้องแบบเสรีนิยมหลังยุคสงครามโลก เพราะนับตั้งแต่สงครามเย็นยุติลง บริษัทข้ามชาติที่มีส่วนแบ่งในเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้นมากมายมหาศาล และครอบงำการค้าโลกอยู่ในขณะนี้ แต่รูปแบบนี้จะเปลี่ยนแปลงไปในปีหน้า
Source: กรุงเทพธุรกิจ