ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานการประชุมประจำวันที่ 2-3 พ.ค.ในวันพุธ (24 พ.ค.) โดยระบุว่า กรรมการเฟดส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่า ความจำเป็นในการเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้นเริ่มลดลง โดยกรรมการหลายคนกล่าวว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมเมื่อวันที่ 2-3 พ.ค.ที่ผ่านมานั้น อาจเป็นครั้งสุดท้าย
อย่างไรก็ดี มีกรรมการเฟดบางคนที่ยังคงเห็นถึงความจำเป็นของการเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อยังคงปรากฏให้เห็น
“กรรมการเฟดหลายคนมองว่า หากเศรษฐกิจสหรัฐมีพัฒนาการที่สอดคล้องกับมุมมองของเฟดในปัจจุบัน การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายหลังการประชุมในเดือนพ.ค.อาจจะไม่จำเป็น” เฟดระบุในรายงานการประชุม ซึ่งทำให้ตลาดการเงินคาดการณ์ว่า เฟดอาจจะระงับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 13-14 มิ.ย.นี้
รายงานการประชุมบ่งชี้ว่า กรรมการเฟดมีความเห็นแตกต่างกันในบางประเด็น โดยกรรมการส่วนหนึ่งยังคงคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะถดถอยเล็กน้อยในปีนี้ ขณะที่กรรมการเฟดอีกส่วนหนึ่งระบุถึงหลักฐานที่บ่งชี้ว่า การดำเนินนโยบายคุมเข้มด้านการเงินในปีที่แล้วได้เริ่มส่งผลกระทบตามวัตถุประสงค์ของเฟด และกรรมการเฟดเกือบทุกคนเล็งเห็นถึงความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เนื่องจากธนาคารพาณิชย์คุมเข้มการปล่อยสินเชื่อหลังจากการล้มละลายของธนาคาร 3 แห่งในสหรัฐ
แต่ถึงกระนั้นก็ตาม กรรมการเฟดส่วนใหญ่เล็งเห็นถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากปัญหาเงินเฟ้อ ขณะที่กรรมการเฟดหลายคนพิจารณาถึงความจำเป็นของการรักษาทางเลือกในการตรึงอัตราดอกเบี้ย หรือการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ในการประชุมเมื่อวันที่ 2-3 พ.ค.ที่ผ่านมานั้น คณะกรรมการเฟดมีมติเป็นเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค. 2550 โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 10 ติดต่อกันนับตั้งแต่ที่เฟดเริ่มวัฏจักรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค. 2565 ส่งผลให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวม 5.00%
แหล่งที่มาของข่าว…