คอลัมน์ Global Vision: ตลาดการเงินโลก ปี 2019 ‘ปีของทรัมป์’ : ในปี 2019 ที่กำลังจะ มาถึงนี้ ผู้เขียนขอฉาย 4 ธีม ใหญ่ของเศรษฐกิจโลกที่เกี่ยวข้องกับทรัมป์ ดังนี้
1.สงครามการค้าเปลี่ยนเป็นสงครามเทคโนโลยี (Trade war to tech war)
ปี 2018 เป็นปีที่ทรัมป์เริ่มเปิดศึกสงครามการค้า โดยเฉพาะกับจีน ซึ่งส่งผล ต่อระบบห่วงโซ่การผลิตโลก (Global supply chain) โดยเฉพาะประเทศที่ส่งออกไปยังจีน อย่างไรก็ตาม เริ่มเห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นหลังการประชุม G20 ที่สหรัฐประกาศจะไม่ขึ้นภาษีจาก 10% เป็น 25% ในสินค้านำเข้า 2 แสนล้านดอลลาร์ แลกกับการที่จีนยอมเริ่มเจรจาเรื่องประเด็นการบีบบังคับถ่ายโอนเทคโนโลยี (Forced Technology Transfer)
แต่ผู้เขียนเชื่อว่า ข้อตกลงดังกล่าวเป็นเพียงการสงบศึกชั่วคราว (Truce) แต่จะไม่สามารถยุติสงครามได้ในระยะ ยาว เนื่องจากจีนใช้กลยุทธ์นี้พัฒนา เทคโนโลยีของตนเพื่อให้บรรลุยุทธศาสตร์ชาติ Made in China 2025 ขณะที่ทรัมป์ ไม่ต้องการให้จีนก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจ โลก
ดังนั้น ในปี 2019 ทรัมป์จะบีบจีนมากขึ้นในประเด็นดังกล่าว โดยจะกำกับ ตรวจสอบ และควบคุมไม่ให้เทคโนโลยีของตนถูกโอนย้ายไปสู่มือบริษัทจีน รวมถึง บีบบังคับผ่านการใช้กลไกอื่นๆ มากขึ้น เช่น การจับกุมผู้บริหารของบริษัทเทคโนโลยีจีน เช่นกรณีหัวเว่ย ซึ่งจะสร้างแรงกดดันให้กับบริษัทเหล่านั้น รวมถึงกระทบต่อระบบห่วงโซ่อุปทานของสินค้าเหล่านี้ด้วย
2.นโยบายการเงินโลก : Inverted Yield Curve ของสหรัฐจะเป็นกุญแจหลัก
ปี 2018 เป็นปีที่ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ทำนโยบายการเงินตึงตัวอย่างต่อเนื่องทั้งการขึ้นดอกเบี้ย และลดปริมาณพันธบัตรที่ Fed ถืออยู่ นโยบายดังกล่าวเกิดผลกระทบสำคัญ 3 ประการ คือ
1.ทำให้สภาวะทางการเงินสหรัฐเริ่มตึงตัวขึ้น โดยดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัย (Mortgage) รวมทั้งดอกเบี้ยหุ้นกู้บริษัทเอกชนถูกปรับเพิ่มขึ้น 1% เป็นอย่างน้อย
2.ทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นมากจนทำให้ประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะตลาด เกิดใหม่ (EM) จนเกิดวิกฤติ เช่น ตุรกี แอฟริกาใต้ อินโดนีเซีย เป็นต้น
และ 3.นำไปสู่ความเสี่ยง Inverted Yield Curve หรือผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นสูงกว่าระยะยาว ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนของวิกฤติในอนาคต (ประเด็นนี้อ่านเพิ่มเติมได้ใน SCBS Make Sense#3 : Inverted Yield Curve ไม่ Make sense ใน fb : SCB Securities)
ในปี 2019 การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะชะลอลง โดยอาจขึ้นดอกเบี้ยได้เพียง 1-2 ครั้งในปีหน้า โดยผู้เขียนมองว่าประเด็น Inverted Yield Curve จะเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้ Fed ชะลอหรือ ยุติการขึ้นดอกเบี้ย โดยหากดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล 2 ปี เข้าใกล้หรืออยู่ในระดับเดียวกับ 10 ปีแล้วนั้น (หรือ Yield Curve ใกล้จะ Inverted) จะส่งผลสำคัญให้ตลาดตื่นตระหนกและผันผวนอย่างรุนแรง
แต่หาก Fed หยุดขึ้นดอกเบี้ย รวมถึงสามารถสร้างความมั่นใจให้กับตลาดการเงินได้ ความตึงตัวทางการเงินของสหรัฐก็จะลดลง ภาวะ Inverted Yield Curve ก็อาจไม่เกิดขึ้น และทำให้เศรษฐกิจสหรัฐรอดพ้นจากวิกฤติได้ ซึ่งทรัมป์ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยกดดันการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ด้วยเช่นกัน
3.ตลาดน้ำมันจะเป็นของทรัมป์ในปี 2019 ผู้เขียนเชื่อว่าราคาน้ำมันจะอยู่ที่ระดับประมาณ 60-70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลดต่ำลงจากประมาณ 70-75 ดอลลาร์ในปี 2018 จาก 3 ปัจจัยคือ 1.เศรษฐกิจ โลกที่แผ่วลง โดยเฉพาะจากประเทศยักษ์ใหญ่เช่น สหรัฐ ยุโรป และจีน 2.การที่ OPEC โดยเฉพาะซาอุดีอาระเบียขาดอำนาจในการต่อรอง โดยทรัมป์จะนำประเด็นเรื่องมกุฎราชกุมารซาอุดีอาระเบียสังหารนักข่าววอชิงตันโพสต์มาเป็นประเด็นต่อรอง และ 3.ทรัมป์สามารถเลื่อนหรือยกเลิกการผ่อนปรนการคว่ำบาตรอิหร่านได้ ผู้เขียนเชื่อว่า ในปัจจุบันทรัมป์มี แรงจูงใจที่จะให้ราคาน้ำมันอยู่ในระดับต่ำ ต่อเนื่องเพื่อให้ 1.ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศต่ำลง และลดแรงกดดันต่อผู้บริโภค 2.เพื่อให้ผู้ประกอบการสหรัฐขายได้ในปริมาณมาก หลังจากที่สหรัฐเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันอันดับ 1 ของโลกในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม การที่ทรัมป์สามารถบงการตลาดน้ำมันได้นั้นทำให้ราคาน้ำมันมีความเสี่ยงผันผวนมากขึ้นในอนาคต
4.การเมืองสหรัฐจะลุกเป็นไฟในปี 2019 หลังการเลือกตั้ง Midterm Election ที่สภาคองเกรส หรือ สภาล่างของสหรัฐตกเป็นของพรรค Democrat เป็นไปได้สูงที่การเมืองภายในสหรัฐจะร้อนแรงขึ้น เนื่องจาก ส.ส. Democrat ที่ได้รับเลือกเป็นหนุ่มสาว ไฟแรง ขณะที่ ส.ส.ฝั่ง Republican ที่ได้รับเลือกก็เป็นเพราะทรัมป์ไปช่วยหาเสียงในลักษณะก้าวร้าวและรุนแรง
ดังนั้น จึงเป็นไปได้สูงว่าเมื่อ ส.ส.เหล่านี้ เข้ามาในสภา จะมีการต่อสู้อย่างเผ็ดร้อนมากขึ้น โดยฝั่ง Democrat จะหาจุดอ่อนที่ สามารถล้มทรัมป์ได้และตีในประเด็นนั้น ในขณะที่ทรัมป์และ ส.ส. Republican ก็จะผลักดันประเด็นที่เป็นวาระของตนมากขึ้น ดังนั้น ในปี 2019 แม้ว่าเสียงของ Democrat จะไม่พอที่จะลงชื่อเพื่อถอดถอน (Impeach) จากตำแหน่ง แต่ก็จะทำให้เกิดความปั่นป่วนในการเมืองสหรัฐมากขึ้น
รวมทั้งหากกระแสการเมืองภายในสหรัฐรุนแรง ทรัมป์อาจนำประเด็นอื่นๆเช่น สงครามการค้า การเข้าแทรกแซงการดำเนินนโยบายการเงินของ Fed รวมทั้งประเด็นภูมิรัฐศาสตร์โลก (Geopolitics) ในตลาดน้ำมัน เข้ามากลบกระแสการเมืองภายในได้
4 ธีมข้างต้น จะเป็นปัจจัยหลักที่กดดันให้ตลาดการเงินโลกผันผวน และเมื่อผนวกกับความเสี่ยงอื่นๆ โดยเฉพาะในยุโรป เช่น กระแสความไม่แน่นอนเกี่ยวกับ Brexit (ว่าจะ Hard, Soft หรือ No Brexit หรือจะเลื่อนการเจรจาออกไป) การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศใหญ่ รวมถึงการเลือกตั้งในรัฐสภายุโรป (ที่กลุ่มขวาจัดสุดโต่งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น) รวมถึงการเปลี่ยนตัวประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินได้
2019 จะเป็นปีแห่งความบ้าคลั่งของทรัมป์ (Crazy Trump) นักลงทุนเตรียมพร้อมรับมือแล้วหรือยัง
โดย ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์