พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ยืนยัน ยังไม่มีแนวโน้มยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ประกาศบังคับใช้ถึงสิ้นเดือน เม.ย.63 แต่ภายใต้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน สามารถบังคับใช้ได้ 3 เดือน และขยายเวลาได้ ซึ่งรัฐบาลจะประเมินผลการบังคับใช้มาตรการต่าง ๆ ใน 1 เดือนแรกก่อน หากส่วนใดดำเนินการแล้วสถานการณ์ดีขึ้นก็อาจจะผ่อนผันได้ แต่ถ้ามาตรการใดยังมีความจำเป็นก็จะขยายเวลาการบังคับใช้และเพิ่มความเข้มข้นขึ้นตามลำดับ
ในส่วนของการปรับมาตรการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการลดการแพร่ระบาดนั้น กระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบทางกฎหมายโดยตรง ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้อำนาจในการพิจารณามาตรการต่างๆ เช่น จังหวัดที่มีตัวเลขติดเชื้อมากขึ้น หรือ พื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดมาแล้วก่อนหน้านี้ ก็ดำเนินมาตรการปิดร้านค้า ห้ามจำหน่ายสุรา ห้ามเล่นกีฬา ที่สำคัญห้ามเล่นการพนันทุกรูปแบบ
พร้อมทั้งกำชับเจ้าหน้าที่ พลเรือน ตำรวจทหาร เข้มงวดการลักลอบเล่นการพนันทุกพื้นที่ รวมถึงเตือนร้านค้าอย่าจำหน่ายสินค้าเกินราคา ซึ่งประชาชนสามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ประจำจุดสกัดต่างๆ ได้ เพราะมีอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่จะเข้าจับกุม รวมถึงการปล่อยกู้นอกระบบในช่วงที่ประชาชนกำลังลำบาก จึงกำชับให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการแก้ไข และป้องกันไม่ให้ทำผิดกฎหมาย โดยจะดำเนินการกับผู้ทำผิดอย่างไม่ละเว้น
พล.อ.ประยุทธ์ ยังระบุอีกว่า ได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมไปประเมินการเดินทางของประชาชน ซึ่งยังพบว่ามีการเคลื่อนย้ายประชาชนเป็นจำนวนมาก จึงให้ระบบการขนส่งภาครัฐพิจารณาความจำเป็นในการลดจำนวนเที่ยวบริการลง ซึ่งหากยังไม่สามารถควบคุมกันเองได้ และยังพบการเดินทางมีมากก็จะสั่งหยุดบริหารทั้งหมดเพื่อลดการแพร่เชื้อ
ส่วนกรณีที่ประชาชนเดินทางออกจาก กทม. ไปยังภูมิลำเนาครบ 7 วันแล้ว จะมีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นหรือไม่นั้น นายกรับมนตรี กล่าวว่า การที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นว่าสามารถตรวจสอบคัดกรองผู้ติดเชื้อได้มากขึ้น ซึ่งประชาชนที่รู้ว่าตนเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยงมาพบแพทย์มากขึ้น ทำให้มีโอกาสพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ขณะที่ประชาชนที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงและดูแลสุขภาพดีก็ไม่จำเป็นต้องไปตรวจคัดกรอง เพราะต้องเข้าใจว่ารัฐบาลต้องควบคุมงบประมาณค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ เพื่อดูแลกลุ่มผู้ติดเชื้อและกลุ่มที่มีความเสี่ยงอย่างแท้จริง
สำหรับการทำบุญทางศาสนาพุทธ ได้เน้นย้ำให้มีการวางมาตรการที่เหมาะสม ทั้งการสวดมนต์ การทำบุญ ซึ่งตนเองไม่สามารถลงรายละเอียดได้ทั้งหมด จึงฝากทุกส่วนราชการ ภาคเอกชน ประชาสังคม มีการกำหนดมาตรการของตัวเองรองรับกับนโยบายหลักของรัฐบาลด้วย
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงมาตรการเงินเยียวยาจากรัฐบาล รายละ 5,000 บาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการลงทะเบียนว่า ได้สั่งการให้กระทรวงการคลัง ไปตรวจสอบอย่างรอบคอบและการคัดกรองผู้ได้รับผลกระทบ หลังจากได้รับการยืนยันสิทธิแล้วกระทรวงคลังก็จะโอนเงินเข้าในระบบของผู้ได้รับผลกระทบภายใน 7 วัน ดังนั้นผู้ที่ลงทะเบียนถึง 20 ล้านคน ไม่ได้หมายความว่าจะได้เงินทั้งหมด แต่คนที่ไม่คุณสมบัติไม่ครบก็ต้องถูกคัดแยกออกไป หากใครให้ข้อมูลเท็จและถูกตรวจสอบภายหลังก็จะถูกเรียกเงินคืน
ส่วนกลุ่มคนที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากมาตรการขั้นต้นนี้ รัฐบาลเตรียมหามาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม ซึ่งเตรียมมาตรการระยะ 3 และ 4 ไว้แล้ว ซึ่งมาตรการที่ออกมาจะมีวงรอบ 3 เดือน โดยจะพิจารณาจัดหางบประมาณทั้งภายในและภายนอก รวมถึงการออก พ.ร.ก.กู้เงิน เพื่อให้มีเม็ดเงินเพียงพอ และรัฐบาลจะดำเนินการอย่างเต็มที่ ซึ่งจะเป็นไปตามกฎหมายทุกประการ
“สำหรับผู้ไม่ตรงกลุ่ม 5,000 บาท รัฐบาลจะหามาตรการช่วยเหลือและออกมาตการอื่นๆมาเยียวยาเพิ่มเติมทำที่ทำได้ เพื่อลดผลกระทบประชาชนให้มากที่สุด เพราะเข้าใจว่าผลกระทบนี้เกิดขึ้นนานพอสมควร จะมีมาตการระยะ 3 ระยะ 4 ออกมา ผมให้มีการพิจารณาในวงรอบ 3 เดือน”พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว